ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ได้กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีเนื่องจากการขยายตัวของภาคการส่งออกทั้งในส่วนสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป เนื่องจากการกีดกันทางการค้าจะทำให้บริษัทข้ามชาติชะลอการลงทุน รวมทั้งทำให้การจัดสรรทรัพยากรของโลกบิดเบือน นอกจากนี้ ความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทยในระยะต่อไป คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่เข้าถึงระบบดิจิทัล ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคต อันใกล้ ได้แก่ เทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาความเร็วในการรับส่งข้อมูลและรองรับปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล ดังนั้น หากประเทศไทยจะเดินเข้าสู่ยุคดิจิทัลในอนาคตอันใกล้ เรื่องของการพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมผ่านเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง และการจัดสรรคลื่นให้เพียงพอจะเป็นประเด็นทางนโยบายที่สำคัญ
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และจะนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยแนวทางแรก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการออกกฎหมายดิจิทัลเพื่อรองรับธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง แนวทางที่สอง คือ การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงการให้บริการประชาชน โดยเน้นการบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการสร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แนวทางต่อมา คือ การพัฒนาและดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล เช่น การสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จังหวัดภูเก็ต และการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้สำหรับเยาวชนผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น การสร้างเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนา EEC ประกอบด้วย การจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและศูนย์ซ่อมบำรุง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ รวมถึงรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือดังกล่าว และรัฐบาลมีความพยายามที่จะผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการสนับสนุน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อากาศยานและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมดิจิทัล นอกจากนี้ ได้มีการส่งเสริมการผลิตบุคลากรภายใน EEC ให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม และการกำหนดเขตนวัตกรรม EEC (EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ ได้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเข้าสู่เศรษฐกิจแบบดิจิทัล จะมีหลายอุตสาหกรรมที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ โดยเห็นว่าระบบดิจิทัลจะทำให้เกิดการส่งผ่านมูลค่าทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วขึ้น จากการมีเครื่องทุ่นแรง และมีสื่อที่สามารถกระจายไปตามหน่วยย่อยต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วในรูปแบบยกกำลัง (exponential) ซึ่งเมื่อเทียบกับอดีตที่ยังไม่มีระบบดิจิทัล มีเพียงการเขียนโปรแกรมสำเร็จรูปในคอมพิวเตอร์ และต่อมาผู้ผลิตหรือผู้เขียนโปรแกรมได้พัฒนามาใช้ระบบดิจิทัล มีการใช้อินเตอร์เนท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ (smart phone) ทำให้มีการเขียนโปรแกรมหรือทำ platform เกิดขึ้น เกิดการกระจายการพัฒนาทางดิจิทัลไปสู่ธุรกิจรายย่อย ปัจเจคบุคคลเองก็พัฒนาโปรแกรมขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงกับผู้เขียนโปรแกรมรายหลัก ทั้งนี้ รัฐบาลได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นให้มีการทำ platform เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สามารถส่งเสริมให้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ และส่งผลไปถึงอนาคตได้ด้วย รัฐบาลได้ให้การสนับสนุน ทั้งในด้านจัดให้มีกองทุนส่งเสริมธุรกิจ Startup การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI การปรับแก้กฎหมาย มีการตลาดที่ดีในการส่งเสริมธุรกิจเหล่านี้ ในส่วนผู้บริโภคก็ควรปรับตัวให้ทันกับธุรกิจดิจิทัลด้วย นอกจากนี้ยังมีการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนว่ารัฐบาลได้ทำอะไรให้บ้าง มีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่ใช้ funding ได้ เพื่อให้ดิจิทัลสร้างศักยภาพของมันให้ได้มากที่สุด
นายสุวิชญ โรจนวานิช กล่าวว่า ในการผลักดัน Digital Economy กระทรวงการคลังจะเน้น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนา (Ecosystem) 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment และโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (National Digital ID) 2) การเพิ่มช่องทางให้ Startups SMEs และ ภาคเอกชนสามารถระดมทุนในยุค Digital Economy ผ่านการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัล (Initial coin offering : ICO) และ 3) การจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : FinTech) นอกจากนี้ ภาครัฐสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิด Digitalization และ Digital Transformation ที่แท้จริง โดยกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ "Big Data" ของผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ ออกแบบและเสนอแนะนโยบายสวัสดิการเพื่อผู้มีรายได้น้อย "แบบถูกฝาถูกตัว" 2) การใช้ระบบ IT ในการพัฒนาระบบงานภาษีที่เรียกว่า "ระบบบริการ Tax Single Sign On (Tax SSO)" เพื่อให้สามารถจ่ายภาษีได้ครบทุกประเภท โดยการลงทะเบียนภาษี ณ จุดเดียว และ 3) โครงการ E-Payment ภาครัฐ เช่น การจ่ายสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วจำนวน 11.9 ล้านคน โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านสวัสดิการแห่งรัฐแล้วจำนวน 31,160 ล้านบาท
จากการเสวนาในช่วงบ่ายนี้จะสรุปได้ว่า ดิจิทัลเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ ซึ่งจะสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit