ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีเปิด "CCE South East Asia - Thailand 2018" ว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังจะเห็นได้จากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ต่างเตรียมความพร้อมในการขยายกำลังการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับการแข่งขัน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในโลกธุรกิจดิจิทัล ซึ่งล้วนต้องใช้กล่องเป็นบรรจุภัณฑ์ทั้งสิ้น โดยก่อให้เกิดการพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เติบโตต่อเนื่องทุกปี จึงเป็นที่มาของการจัดงาน "CCE South East Asia – Thailand 2018" ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เป็นองค์กรและสมาคมที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นถึงการทำงานเป็นยุทธศาสตร์ "ประชารัฐ" เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน นำไปสู่เป้าหมายการเป็นฮับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในอาเซียน อีกทั้งเป็นการตอบโจทย์ต่อความต้องการในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนกระบวนการผลิตให้ผู้ประกอบการของอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี เป็นไปตามนโยบาย Industry 4.0 ของรัฐบาล
นางสาวกนกวรา อนุตรวัตร ผู้จัดการอาวุโสบริษัท แม็ค บรูคส์ เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า การจัดครั้งที่ 2 ของงาน CCE South East Asia - Thailand 2018 ในประเทศไทย ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการจัดงานเพื่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นอีกหนึ่งเวทีทางการค้าสำคัญในการเพิ่มโอกาสการเชื่อมขยายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการของอุตสาหกรรมฯในประเทศไทย ตลอดจนผู้ประกอบการจากทั่วภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนพื้นที่การจัดงานที่เพิ่มขึ้นกว่า 40 % มากขึ้นด้วยจำนวนของผู้เข้าร่วมแสดงงาน (Exhibitor) และการสาธิตเครื่องจักรจริงจากผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายชั้นนำกว่า 120 บริษัทจากทั่วโลก อาทิ BHS Corrugated, BOBST, FOSBER Italy, Conprinta, British Converting Solutions, Valco Melton, Re S.p.A., Rodicut Industry, Mosca Asia Pte., HP PPS Asia Pacific, Fujifilm (Thailand), Sun Automation, Hsieh Hsu Machinery, Max Dura, Goettsch International, HPS Promactech เป็นต้น
โดยทีมผู้จัดงานตลอดจนผู้สนับสนุนหลักของการจัดงานจากภาคเอกชน และภาครัฐ ประกอบด้วย สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย (Thai CPA) สมาคมกลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษไทย (TPPIA) สมาคมการพิมพ์สกรีนไทย (TSGA) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (Thai – IDC) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB)มีความตั้งใจเป็นอย่างมากกับเวทีทางการค้านี้ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในประเทศไทย และจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับประโยชน์สูงสุด สามารถนำไปเพิ่มประสิทธิผลในขบวนการผลิตของท่านให้ทัดเทียม และตอบโจทย์กับความต้องการที่หลากหลายในการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในยุคปัจจุบันผ่านเวทีสำคัญเวทีนี้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานนอกจากจะได้ประสบการณ์ ยังได้รับความรู้ใหม่ๆ จากการเข้าฟังสัมมนาจากวิทยากรชั้นนำทั่วโลกตลอดทั้ง 3 วัน อาทิ ในวันแรกจะเป็นการสัมมนาที่มุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง หัวข้อหลักในวันที่สองจะมุ่งเน้นถึงประโยชน์ของการควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติ และการจัดการความสูญเสียในการผลิตที่เกิดขึ้นภายในโรงงาน และในวันสุดท้ายของการจัดงาน หัวข้อการสัมมนาจะมุ่งเน้นถึงแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกและบรรจุภัณฑ์กระดาษชนิดพับ
นายระวิ เกษมศานติ์ นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์เติบโตของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งปัจจัยผลักดันต่างๆ การเพิ่มขึ้นของธุรกิจ e-Commerce ส่งผลต่อการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกเพิ่มขึ้น และยังส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมใน Supply Chain ซึ่งมีผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน จากจำนวนประชากรที่มีจำนวนถึง 650 ล้านคน อาเซียนจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายพรชัย วิทยาคุณสกุลชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ นับเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีการผลิตอย่างครบวงจรภายในประเทศ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีกำลังการผลิตกระดาษคราฟท์ที่สามารถสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกได้อย่างเพียงพอ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทยสามารถตอบสนองต่อกระแสของยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีส่วนผลักดันการเพิ่มขึ้นของการใช้กระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ตามยุคของการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ รวมถึงมีการนำระบบการทำงานอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอนเพื่อช่วยลดต้นทุน มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าอันจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน อาทิ มีการผลิตกระดาษให้เหมาะกับรูปแบบการใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก การผลิตกระดาษน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ประหยัดค่าขนส่ง เป็นต้น
นางประภาพร ณรงค์ฤทธิ์ นายกสมาคมการพิมพ์สกรีนไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฯ ในปัจจุบันมีการทำงานแบบต่อยอด โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากเดิม และยังถือเรื่องวัสดุที่ใช้ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิต รวมทั้งการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพตามยุคสมัย โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกยุค 4.0 ซึ่งจะเห็นว่าบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกที่ผลิตออกมาในปัจจุบันมีหลายนวัตกรรม ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรงทำให้ประหยัดค่าขนส่ง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า การจัดงาน CCE South East Asia - Thailand 2018 ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และหน่วยงาน เครือข่าย ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ เกี่ยวกับการออกแบบแพคเกจจิ้ง เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงงานด้านการออกแบบและสามารถต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับอาเซียน โดยเฉพาะปีนี้ มีกิจกรรมพิเศษสำหรับนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทางสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทยร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai – idc) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดประกวดการออกแบบบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก "Thai Corrugated Packaging Excellence Award 2018" เปิดโอกาสให้นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจาสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประกวด เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ครั้งแรกในไทย ซึ่งจะประกาศผลในงานนี้เช่นกัน
สำหรับศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีบทบาทเป็นหน่วยงานกลางที่จะเชื่อมโยงบูรณาการบริการด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์กับหน่วยงานเครือข่าย ตลอดห่วงโซอุปทาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากการรับจ้างผลิต สู่การยกระดับความสามารถด้านการออกแบบของผู้ประกอบการไปสู่การเป็นศูนย์กลางการออกแบบระดับอาเซียน
นางสาวกนกพร ดำรงกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ หรืออุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมดังกล่าวในภูมิภาคอาเซียน มองว่าการจัดงาน CCE South East Asia - Thailand 2018 จะเป็นเวทีสำคัญในการเจรจาทางการค้าสำหรับหน่วยงานธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ที่ช่วยตอบสนองต่อความต้องการด้านการผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกของภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี และสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้
การจัดงาน CCE South East Asia - Thailand 2018 ถือเป็นการสร้างเวทีทางการค้าสำคัญให้แก่ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกทุกท่านทั้งในด้านของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ตัวแทนจำหน่าย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายทางของการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดกับการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ตอบรับกับโอกาสทางการค้าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก 4.0 ได้เป็นอย่างดี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit