5 เรื่องควรรู้ก่อนจะเสียรู้ใน “ภาษีการรับมรดก” มรดกข้น เสียยังไงให้ทรัพย์ไม่จาง ? (จากหนังสือ ภาษีการรับมรดก ฉบับสมบูรณ์)

27 Sep 2018
ถ้าพูดถึงความนิยมของละครไทย มักมีแก่นเรื่องมุ่งถึงสงครามแก่งแย่งความรักเสียส่วนใหญ่ น้อยนักที่จะมีละครเจาะประเด็นนอกกระแสแล้วได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างล้นหลาม ดังเช่นละครสืบสวนสอบสวนที่กำลังสร้างกระแสไปทั่วบ้านทั่วเมือง จากเรื่องราวของตระกูลจีนที่ต้องมาเฉือนคมกัน เพื่อคลี่คลายเงื่อนงำคดีฆาตกรรมในครอบครัว แต่นอกจากความเข้มข้นของบทละคร สิ่งสำคัญที่ผู้ชมควรรู้เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม นั่นคือเกร็ดความรู้เรื่องกฏหมายเกี่ยวกับมรดก ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนมากกว่าที่คิดวันนี้จึงนำกุญแจสำคัญของ ภาษีการรับมรดก กฎหมายที่ทุกคนควรทำความเข้าใจ เพื่อรู้เท่าทันการจัดการบริหารทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย 5 เรื่องควรรู้ในเรื่องภาษีการรับมรดก จากหนังสือ ภาษีการรับมรดก ฉบับสมบูรณ์ ผลงานเขียนโดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสถาบันการเงิน และการวางแผนภาษี ขอนำเสนอเกร็ดความรู้มาบอกต่อกัน ดังต่อไปนี้
5 เรื่องควรรู้ก่อนจะเสียรู้ใน  “ภาษีการรับมรดก” มรดกข้น เสียยังไงให้ทรัพย์ไม่จาง ? (จากหนังสือ ภาษีการรับมรดก ฉบับสมบูรณ์)

ใครเป็นผู้มีสิทธิรับมรดก ? เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีโดยผลของกฎหมาย แม้จะยังไม่ได้ไปขอเปลี่ยนแปลงชื่อในเอกสารแสดงความเป็นเจ้าขอองทรัพย์มรดกก็ตาม ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายแบ่งเป็น 2 ประเภท คือทายาทโดยชอบธรรม และ ผู้รับพินัยกรรม

ทายาทโดยชอบธรรม นั่นคือบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้มีสิทธิรับมรดกของเจ้าของมรดก ได้แก่บุคคลที่เป็นญาติและคู่สมรสของเจ้าของมรดก ตามมาตรา ๑๖๒๙ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้

  • ผู้สืบสันดาน
  • บิดามารดา
  • พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
  • พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
  • ปู่ ย่า ตา ยาย
  • ลุง ป้า น้า อา

นอกจากนี้ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ถือเป็นทายาทโดยธรรม และมีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายขอขยายคำจำกัดความของ "ผู้สืบสันดาน" คือบุคคลผู้เป็นสายโลหิตโดยตรงลงมาของเจ้ามรดก ได้แก่ บุตร หลาน เหลน ลื่อ ลืบ ลืด และบุคคลผู้สืบสายโลหิตในลำดับถัดๆ ไป นอกจากนี้ ตามกฎหมายมรดก บุตรนอกกฎหมายที่บิดามีพฤติการณ์รับรอง (เช่น ยอมให้เรียกพ่อ หรือให้ใช้นามสกุล เป็นต้น) และบุตรบุญธรรมให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ หากผู้สืบสันดานในชั้นบุตรยังมีชีวิต ผู้สืบสันดานในชั้นถัดไปจะไม่มีสิทธิรับมรดก สำหรับ "บุตรที่เกิดจากบิดาและมารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน" ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ แต่จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ต่อเมื่อ (๑)บิดาได้ไปจดทะเบียนรับรองบุตร (๒)บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง หรือ(๓) ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตรนั่นเอง

ส่วน ผู้รับพินัยกรรม คือบุคคลที่ผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนาให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ทำพินัยกรรม ทั้งนี้ ผู้รับพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทโดยธรรมหรือเป็นญาติกับผู้ทำพินัยกรรม นอกจากนี้ตามกฎหมายไทย ผู้ทำพินัยกรรม อาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมก็ได้ ซึ่งต่างจากกฏหมายบางประเทศที่มีหลักกฎหมาย กำหนดให้ทรัพย์สินของเจ้ามรดกส่วนหนึ่งต้องตกทอดแก่ทายาทตามที่กฎหมายกำหนด (เช่น บุตร และคู่สมรส) ดังนั้น ตามหลักกฎหมายดังกล่าวผู้ทำพินัยกรรมจึงไม่สามารถทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินในส่วนที่กฏหมายกำหนดให้ตกแก่ทายาทดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นได้

ใครที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก? เป็นอีกประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เพราะผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ตามมาตรา ๑๑ พรบ.ภาษีการรับมรดกฯ ได้แก่ บุคคลผู้ได้รับมรดกเอง โดยมีเงื่อนไขต่อไปนี้ (๑) บุคคลผู้มีสัญชาติไทย (๒) บุคคลธรรมดาที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (๓) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

สำหรับข้อยกเว้น บุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก นอกจากคู่สมรสของเจ้ามรดกที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีการรับมรดกแล้ว บุคคลต่อไปนี้ก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก แม้ว่าจะได้รับมรดกที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท ตามมาตรา ๑๓ พรบ.ภาษีการรับมรดก ได้แก่ (๑) บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์ (๒) หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถประสงค์เพื่อกิจการศาสนากิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ (๓) บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ

มรดกซึ่งต้องเสียภาษีการรับมรดก มรดกตามประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์ หมายความถึงทรัพย์สินและสิทธิทุกชนิดของเจ้ามรดกที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย แต่มรดกซึ่งต้องเสียภาษีการรับมรดกได้แก่ ทรัพย์มรดก 5 ประเภทตามที่ พรบ.ภาษีการรับมรดกกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่มีหลักฐานทางทะเบียนชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและการจัดเก็บภาษี ทรัพย์มรดก 5 ประเภทซึ่งต้องเสียภาษีการรับมรดก ตามมาตรา ๑๓ พรบ.ภาษีการรับมรดก ได้แก่ (๑) อสังหาริมทรัพย์ (๒) หลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (๓) เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ (๔) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทะเบียน (๕) ทรัพย์สินทางการเงินที่มีการกำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา

มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก แนวคิดในการจัดเก็บภาษีการรับมรดก คือ จัดเก็บภาษีตามสมควรจากการรับมรดกที่มีมูลค่าจำนวนมาก เพื่อนำไปพัฒนาประเทศและยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่ให้กระทบถึงผู้ที่ได้รับมรดกพอสมควรแก่การดำรงชีพ ด้วยเหตุนี้ การจัดเก็บภาษีการรับมรดกจึงจัดเก็บจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวกันหรือหลายคราว เฉพาะส่วนที่มีมูลค่ารวมเกิน 100 ล้านบาท โดยมูลค่าทรัพย์มรดกดังกล่าว หมายถึง มูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้นในโลกการใช้ชีวิตจริง การรู้ทันกฏหมายเบื้องต้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ป้องกันไม่ให้ถูกริดรินสิทธิ และพึงเสียภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วน แค่เพียงเท่านี้ชีวิตจะบริหารจัดการได้อย่างไร้ที่ติ

พบกับเกร็ดความรู้สำคัญเรื่องภาษีการรับมรดก ภาษีการให้ และภาษีการรับให้อย่างครบวงจร ในหนังสือ ภาษีการรับมรดก ฉบับสมบูรณ์" จัดพิมพ์โดย บริษัทในเครือ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) วางจำหน่ายแล้ววันนี้ที่ร้านนายอินทร์ และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ราคาเล่มละ 165 บาท หรือสั่งซื้อผ่าน www.amarinbooks.com

5 เรื่องควรรู้ก่อนจะเสียรู้ใน  “ภาษีการรับมรดก” มรดกข้น เสียยังไงให้ทรัพย์ไม่จาง ? (จากหนังสือ ภาษีการรับมรดก ฉบับสมบูรณ์) 5 เรื่องควรรู้ก่อนจะเสียรู้ใน  “ภาษีการรับมรดก” มรดกข้น เสียยังไงให้ทรัพย์ไม่จาง ? (จากหนังสือ ภาษีการรับมรดก ฉบับสมบูรณ์)
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit