วันนี้ (24 กันยายน 2561) เวลา 13.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายในงาน Green Mining Award 2018 ว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ในฐานะอุตสาหกรรม ต้นน้ำที่ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งการประกอบการเหมืองแร่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่และสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่มีความคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลกระทบน้อยที่สุด ดังนั้น สถานประกอบการเหมืองแร่จึงต้องดำเนินการตามข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องและเคร่งครัด
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้เดินหน้าขับเคลื่อนการทำ เหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั้ง ผู้ประกอบการ ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือสร้างเครือข่ายให้แข็งแรง ภายใต้กรอบการดำเนินงานตามข้อกำหนดและกฎหมายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบการใช้มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและยกระดับการประกอบการของตนเองเพื่อการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นที่ยอมรับและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างราบรื่น สร้างให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และประเทศอย่างยั่งยืน" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
ด้านนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการและกำกับดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานยกระดับมาตรฐานการประกอบการของตนสู่เหมืองแร่สีเขียว ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม มีการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่และมีทัศนียภาพเรียบร้อย มีความปลอดภัยต่อคนงานและชุมชนโดยรอบ มีความโปร่งใส และมีการผลิตที่มีประสิทธิภาพตามนโยบายเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Policy) ทำให้ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการหลายแห่งได้ยกระดับและพัฒนาตนเองเพื่อให้การประกอบการผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวและได้รับรางวัลมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวรวมทั้งสิ้น 219 ราย ทั้งนี้ สถานประกอบการได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียวยังเทียบเท่ากับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3 ของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย
สำหรับปี 2561 นี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณาและประเมินสถานประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เข้าร่วมโครงการตามเกณฑ์มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวเรียบร้อยแล้วโดยมีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินและได้รับรางวัลมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว แบ่งออกเป็นสถานประกอบการรายใหม่จำนวน 27 ราย และมีผู้ผ่านเกณฑ์การรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวสำหรับสถานประกอบการรายเดิมที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจำนวน101 ราย
วันนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ จึงได้จัดงาน "Green Mining Award 2018"ขึ้นเพื่อมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2561 ให้แก่สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ประเมิน และยังมีกิจกรรมหลักของงานประกอบไปด้วย การสัมมนาให้ความรู้ตามมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว การพัฒนาต่อยอดภายหลังจากที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 และ 5 รวมถึงการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่สีเขียว
"โครงการเหมืองแร่สีเขียวและพิธีมอบรางวัลในวันนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นและผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีการยกระดับการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือมาตรฐานอื่น ๆ ในระดับที่สูงขึ้น จนเป็นที่ยอมรับของสังคมมากยิ่งขึ้นต่อไป" นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit