นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการสนับสนุนโชห่วยชุมชน เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แบบ B2B (Business to Business) ผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ ให้เป็นแพลตฟอร์มหลักเพื่ออำนวยความสะดวกในการสั่งซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยในชุมชนต่าง ๆ ไปยังผู้ผลิตสินค้าโดยเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้ง 5 แห่งดังกล่าว กับภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
"โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลเล็งเห็นปัญหาความเดือดร้อนของร้านขายของชำที่อยู่ภายในชุมชนหรือ ที่เรียกกันว่าร้านโชห่วย ปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันในตลาดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะร้านโชห่วยที่อยู่ห่างไกลในชนบทเนื่องจากมีต้นทุนสูงในการซื้อและสต็อกสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายภายในร้านเพราะมีกำลังซื้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถต่อรองเรื่องราคาต้นทุนกับผู้ผลิต และส่วนใหญ่ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสั่งซื้อสินค้าและรายงานสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบ ทำให้การบริหารต้นทุนยังขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้สินค้าในร้านมีราคาสูงและไม่สามารถแข่งขันได้"
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางหลักระหว่างร้านโชห่วยกับผู้ผลิต บริหารคำสั่งซื้อสินค้า บริหารคลังสินค้า การจัดส่ง และการชำระเงินค่าสินค้าของร้านโชห่วย โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่แล้วทั้งในโครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce ซึ่งไปรษณีย์ไทยได้มีการติดตั้งระบบพีโอเอสชุมชน และร้านค้าออนไลน์ thailandpostmart.com โดยมีกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาและประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือและให้คำปรึกษาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ด้านธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส ร่วมสนับสนุนการให้สินเชื่อการค้าระยะสั้นแก่ร้านโชห่วย
นายกอบศักดิ์ กล่าวเน้นว่า โครงการนี้ นอกจากจะช่วยให้ร้านโชห่วยสามารถลดต้นทุนสินค้าจากการรวมซื้อแล้ว ยังเป็นการสร้างกลไกในการนำสินค้าจากชุมชนให้สามารถนำออกมาจำหน่ายทั่วประเทศอีกด้วย โดยชุมชนสามารถนำสินค้าที่พัฒนาและผลิตเอง มาเสนอขายบนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นเพื่อให้ร้านโชห่วย อื่นๆ สามารถสั่งซื้อสินค้าไปขายได้วิธีนี้จะช่วยสร้างและขยายตลาดสินค้าชุมชนได้อย่างแพร่หลาย โดยในระยะแรกจะเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี กำหนดเป้าหมายร้านค้าเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 750 ร้านภายในเดือนมกราคม 2562 โดยตั้งเป้าให้แต่ละร้านมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 และคาดว่าจะขยายให้ครอบคลุมร้านโชห่วยในทุกจังหวัดได้ประมาณ 4 หมื่นร้านภายใน 3 ปี
ทั้งนี้ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการดังกล่าวจัดขึ้น ณ อาคารไปรษณีย์กลางบางรักโดยได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมผู้บริหารจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นผู้แทนในการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit