5 องค์กรร่วมพัฒนามาตรฐานกลาง ยกระดับบริการสุขภาพการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

          5 องค์กรภาครัฐและวิชาการร่วมลงนาม MOU จัดทำนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคองของประเทศไทย หวังรับมือสถานการณ์สังคมผู้สูงวัยและโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น มั่นใจช่วยยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เล็งเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศฯ เพื่อขับเคลื่อนนำไปปฏิบัติในสถานพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมดัน 3 กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลเบิกจ่ายอย่างครอบคลุม
          วันที่ 25 เมษายน 2561 มี "พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำนิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ของประเทศไทย" ระหว่าง 5 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
          นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นองค์ความรู้สำคัญและจำเป็นต่อสังคมไทย เห็นได้จากผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังสูงขึ้นทุกปี ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ในระบบสุขภาพได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลและปรับปรุงการใช้จ่ายงบประมาณให้เอื้อต่อการดูแลแบบประคับประคองในชุมชน และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยให้บริการ เป็นต้น แต่การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวยังมีประเด็นปัญหาที่สำคัญคือเรื่องคำนิยามและความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง ในประเด็นความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน ส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งด้านกฎหมาย ระเบียบการปฏิบัติ การเบิกจ่ายและตรวจสอบงบประมาณฯลฯ
          "สช. ในฐานะหน่วยงานหลักขับเคลื่อนเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย จัดทำนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคองทั้งหมด เพื่อให้เกิดการยอมรับเป็นมาตรฐานเดียวกัน นำไปใช้กับสถานพยาบาลต่างๆ ส่งผลต่อคุณภาพการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่ดีขึ้น"
          นพ.พลเดช กล่าวว่า เมื่อการจัดทำคำนิยามเสร็จสิ้นแล้ว สช. จะนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นมาใช้ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและหาฉันทมติร่วมกัน ก่อนเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติออกประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเสนอกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 1,000 แห่ง ออกประกาศกระทรวงฯ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดูแลแบบประคับประคองอย่างยั่งยืนและเป็นสากล
          ภายในงาน มีการเสวนาหัวข้อ "เฟืองขับเคลื่อนสำคัญ : นิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคองสำหรับประเทศไทย" โดย นพ.อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยเสียชีวิตปีละ 450,000 คน โดยร้อยละ 50 เสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนที่เหลือไม่ระบุว่าเสียชีวิตที่ใด ซึ่งผลการศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ระบุว่า ผู้ป่วยระยะท้ายส่วนใหญ่ต้องการเสียชีวิตที่บ้าน แต่ติดขัดปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลยังไม่ครอบคลุม ทั้งส่วนของกรมบัญชีกลางที่ดูแลสิทธิประโยชน์ข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม
          นพ.อุกฤษฎ์ มองว่า การกำหนดมาตรฐานกลางของคำนิยามการดูแลแบบประคับประคองมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบาย ระบบสวัสดิการที่รองรับให้ผู้ป่วย กฎหมาย งบประมาณ การพัฒนากำลังคนและหลักสูตรการศึกษา อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นและลดภาระด้านเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย
          นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะทำงานวิชาการจัดทำคำนิยามปฏิบัติการฯ กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยปฏิบัติเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแต่ละแห่งปฏิบัติตามแนวทางที่ตนเองเข้าใจ ซึ่งการกำหนดคำนิยามปฏิบัติการฯ จะช่วยสร้างมาตรฐานที่เป็นกรอบแนวทางเดียวกัน เพื่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและปรับใช้ให้คนไข้ได้รับประโยชน์มากที่สุด
          "การศึกษาครั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับหลักการทางวิชาการและกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยการรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเห็นตรงกันด้วย เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็จะนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป"
          พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช.สนับสนุนให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับบริการแบบประคับประคองที่มีคุณภาพโดยจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายรายบุคคลให้แก่หน่วยบริการ ตั้งเป้าหมายการเข้าถึง 10,000 รายในปีนี้
          "ปัจจุบันคณะกรรมการจัดทำสิทธิประโยชน์กลาง อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับสวัสดิการนี้อย่างเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน คือ สปสช. กรมบัญชีกลาง และกองทุนประกันสังคมด้วย"
          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย ผู้แทนสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. จะร่วมสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อให้เกิดข้อสรุปในเรื่องนิยามและความหมายของการดูแลแบบประคับประคองและการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice care) รวมทั้งคำว่า ภาวะใกล้ตาย วาระสุดท้ายของชีวิต ความตายในทางการแพทย์และทางกฎหมาย ฯลฯ เพื่อใช้สำหรับอ้างอิงให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจตรงกัน
          "คำนิยามเหล่านี้จะช่วยให้บุคลากรด้านสุขภาพใช้สื่อสารกับประชาชน ผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเบิกจ่ายและสนันสนุนงบประมาณในการบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะท้าย"
          รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ จะทำให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน อาทิ คำนิยามของผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งในต่างประเทศกำหนดชัดว่าเป็นผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตช่วง 6-12 เดือน ฯลฯ รวมถึงพัฒนาระบบการดูแลทั้งด้านการแพทย์และสังคม รวมถึงชุดสิทธิประโยชน์ที่รองรับประชาชนทุกคน
5 องค์กรร่วมพัฒนามาตรฐานกลาง ยกระดับบริการสุขภาพการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
 
5 องค์กรร่วมพัฒนามาตรฐานกลาง ยกระดับบริการสุขภาพการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
 

ข่าวo:heal+o:busวันนี้

"โพรโพลิซ" สร้างปรากฏการณ์วันเสียงโลก ปล่อยแคมเปญ 'Propoliz Day Empower Your Voice' จัดโรดโชว์ส่งไอเทมสเปรย์ เม็ดอม สนับสนุนการดูแลและการใช้ 'เสียง'อย่างมั่นใจ

"บมจ.ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล" หรือ TMAN ผู้นำธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เดินพันธกิจ ESG สู่ความยั่งยืนเพื่อสังคม นำโพรโพลิซ (Propoliz Series) สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกเปิดตัวแคมเปญ "Propoliz Day Empower Your Voice" รับวันเสียงโลก ภายใต้แนวคิด "Propoliz Support ทุกการใช้เสียง เพราะเราเชื่อว่าเสียงของคุณ…สำคัญเสมอ" เดินสายจัดโรดโชว์กิจกรรมในย่านสีลม รถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของเสียง การดูแลสุขภาพเสียงและใช้เสียงอย่างมั่นใจทุกบทบาท

บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness ... BDMS Wellness Clinic คว้า 2 รางวัล Healthcare Asia Awards 2025 ยกระดับมาตรฐาน Wellness ไทยสู่เวทีโลก! — บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) ศ...

Chulalongkorn Hospital Thai Red Cross Soc... True Corporation Signs MoU with Chulalongkorn Hospital to Enhance Employee Healthcare Benefits — Chulalongkorn Hospital Thai Red Cross Society, a leader i...

ดร. ฤกขจี กาญจนพิทักษ์ CEO กลุ่มบริษัท โร... ดร.ฤกขจี กาญจนพิทักษ์ ได้รับรางวัล Best Women CEO in Strategic Leadership - Healthcare — ดร. ฤกขจี กาญจนพิทักษ์ CEO กลุ่มบริษัท โรงพยาบาลรามคำแหงและบริษัท...

รพ.ธนบุรี ในเครือ THG นำโดย ศ.คลินิก.นพ.ว... รพ.ธนบุรี จับมือ รพ.ศิริราช จัดงานประชุมวิชาการแพทย์ด้านกระดูกสันหลังนานาชาติ — รพ.ธนบุรี ในเครือ THG นำโดย ศ.คลินิก.นพ.วิศิษฏ์ วามวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าท...