เอ็นไอเอ ชี้สตาร์ทอัพไทยต้องโกอินเตอร์ รับดีมานด์ตลาดต่างชาติ พร้อมเตรียมบิ๊กอีเว้น “สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2018” โชว์ธุรกิจไทยแก่ชาวโลกกว่า 400 โมเดลธุรกิจ

26 Apr 2018
- เอ็นไอเอ เผยปี 61 กลุ่มธุรกิจไทยพร้อมขนเม็ดเงินร่วมลงทุนสตาร์ทอัพกว่า 1,200 ล้านเหรียญฯ พร้อมปลื้มนศ.มหาวิทยาลัยผันตัวจัดตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพได้กว่า 30 บริษัท
เอ็นไอเอ ชี้สตาร์ทอัพไทยต้องโกอินเตอร์ รับดีมานด์ตลาดต่างชาติ พร้อมเตรียมบิ๊กอีเว้น “สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2018” โชว์ธุรกิจไทยแก่ชาวโลกกว่า 400 โมเดลธุรกิจ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ตั้งเป้าส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนา 9 หมวดสาขาธุรกิจ อาทิ การแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหาร การท่องเที่ยว ให้สามารถออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังได้โชว์บริการเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยในหลากหลายด้าน เช่น บริการด้านฐานข้อมูล บริการแหล่งเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม พร้อมเร่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น "สมาร์ทวีซ่า" และมาตรการยกเว้นภาษี ที่จะส่งเสริมให้บุคลากรชั้นนำด้านเทคโนโลยี (Tech Talent) ให้มีการลงทุนธุรกิจประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเป็นแรงส่งเสริมให้ประเทศสามารถยกระดับด้านธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ส่งเสริมสตาร์ทอัพของ NIA ในปี 2561 จะมุ่งผลักดันให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีขีดความสามารถการแข่งขันในระดับโกลบอลหรือ ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในระดับหัวเมืองให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นใน 9 หมวดสาขาธุรกิจ ได้แก่ เกษตรและอาหาร การเงิน การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ การศึกษา อสังหาริมทรัพย์และนวัตกรรมเมือง ไลฟ์สไตล์และบันเทิง เทคโนโลยีอุตสาหกรรม และการบริการธุรกิจ สำหรับความพร้อมของ NIAขณะนี้มีระบบนิเวศที่มีการสร้างพันธมิตรเครือข่ายกว่า 25 ประเทศที่จะช่วยส่งเสริมวิสัยทัศน์ด้านความเป็นนานาชาติให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพไทย อาทิ เยอรมนี สวีเดน ออสเตรีย ญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากนโยบายส่งเสริมให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยไปสู่ต่างประเทศแล้ว ยังจะมีการส่งเสริมแนวทาง "Smart Visa" เพื่อดึงชาวต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ลงทุนใน 10อุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมด้วยมาตรการการยกเว้นภาษีที่ขณะนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้สตาร์ทอัพ มีแหล่งเงินทุนที่จะนำไปใช้ดำเนินการบ่มเพาะธุรกิจให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า ด้านบริการและการส่งเสริมสตาร์ทอัพในปีนี้ NIA จะเน้นพัฒนาบริการให้เกิดขึ้นอยางครอบคลุมในทุกมิติ และผลักดันให้กลุ่มสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างไร้ข้อจำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ เช่น

  • บริการแหล่งเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม ซึ่งจะผลักดันให้สตาร์ทอัพในแต่ละกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตลอดจนให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ บริการพี่เลี้ยงด้านการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนานวัตกรรม ฯลฯ เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถตอบสนองความต้องการตลาดได้อย่างครอบคลุม และเติบโตอย่างก้าวกระโดด
  • สร้างระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเชื่อมโยงกับหน่วยงานเครือข่ายทั่วประเทศในการสนับสนุนด้านพื้นที่ การสร้างมาตรการต่างๆ เช่น โครงการสมาร์ทวีซ่า และมาตรการยกเว้นภาษี
  • การจัดฝึกอบรม สัมมนาให้ความรู้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เยาวชน ประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงบุคลากรภาครัฐ ได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงเทรนด์นวัตกรรม มากกว่า 150 กิจกรรม ซึ่งแต่ละกิจกรรมจะมีหลักสูตรที่เข้มข้นที่สามารถให้แนวทางพร้อมทั้งการปฏิบัติจริงในการพัฒนาธุรกิจ และสามารถนำมาปรับใช้ในการขอรับการพิจารณาสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการจาก NIA ได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดค่ายต่างๆให้กับเยาวชนและนักศึกษา ในการค้นหาและบ่มเพาะความเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งจะต่อยอดการลงทุนให้กับกลุ่มเหล่านี้ในอนาคตต่อไป
  • ด้านเวิร์กช็อปเชื่อมโยงเครือข่ายสตาร์ทอัพ เพื่อผลักดันให้กลุ่มสตาร์ทอัพได้มีโอกาสที่กว้างขวางในการเข้าถึงการสนับสนุนจากหน่วยงาน องค์กร หรือภาคธุรกิจในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมที่จะขยับขยายไปสู่เวทีสากลได้เร็วขึ้น ผ่านกิจกรรมไฮไลท์ต่างๆ ตลอดทั้งปี อาทิ กิจกรรม Dream Fest กิจกรรม District Summit กิจกรรมHealth Fest กิจกรรม Startup Thailand เป็นต้น
  • บริการด้านฐานข้อมูล โดยมี Web Portal ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานและสตาร์ทอัพ ผ่าน www.startupthailand.org ซึ่งจะเป็นช่องทางการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลไกและกิจกรรมการสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นของ NIA ให้กลุ่มประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงนักศึกษาได้รับทราบและนำไปสู่การต่อยออดและพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งการให้บริการด้าน Big Data ที่จะช่วยประมวลผลและวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ต่างๆที่การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี การเติบโตของสตาร์ทอัพไทยในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ในปีนี้ มีการเปลี่ยนไปจากช่วงระยะเวลาดังกล่าวอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น การผลักดันให้กรุงเทพเป็นเมืองเป้าหมายที่น่าลงทุนอันดับหนึ่งในเอเชีย การเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพที่ประกอบธุรกิจได้จริงเกือบสองพันราย การผลักดันให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยสามารถจดทะเบียนและจัดตั้งธุรกิจได้กว่า 30 บริษัท การเปลี่ยนกฎหมาย พรบ. สิทธิประโยชน์ มาตรการทางภาษี ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่เป็นผลให้บริษัทและธุรกิจขนาดต่างๆในประเทศเกิดความสนใจและมีเงินที่พร้อมลงทุนกว่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนพฤษภาคม NIA ได้กำหนดจัดงาน Startup Thailand 2018 ภายใต้แนวคิด Endless Opportunities เพื่อโชว์ศักยภาพธุรกิจสตาร์ทอัพไทยกว่า 400 ราย แก่นานาชาติ ซึ่งภายในงานจะประกอบไปด้วยกิจกรรมไฮไลท์ต่างๆ อาทิ พื้นที่จัดแสดงกลุ่มธุรกิจตัวอย่างของสตาร์ทอัพ เช่น ฟินเทค การแพทย์ เกษตรและอาหาร เวทีพิชชิ่งธุรกิจ กิจกรรม Speed Dating การให้คำปรึกษาโดยพี่เลี้ยงมากประสบการณ์แบบตัวต่อตัว เวทีให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญกว่า 500 ราย กิจกรรมฟอรั่มจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติกว่า 20 ประเทศ กิจกรรมการแข่งขันแฮ็คคาธอน และกิจกรรมแข่งขัน Startup Thailand League ระดับอุดมศึกษาและ อาชีวะศึกษา ฯลฯ อย่างไรก็ตามงานดังกล่าว จะเป็นช่องทางในการผลักดันให้กลุ่มสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่มีอยู่กว่าพันราย และบุคคลที่มีความสนใจได้มองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดแนวคิด โมเดลธุรกิจ และนวัตกรรมในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ พร้อมกับเป็นการสร้างพื้นที่ในการพบปะนักลงทุนระดับนานาชาติในระดับที่เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ ในการดำเนินกิจกรรม NIA ได้เชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายในประเทศกว่า 50 หน่วยงาน และหน่วยงานพันธมิตรจากต่างประเทศอีกกว่า 20 หน่วยงาน ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไม่ต่ำกว่า60,000 คน

สำหรับผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02 - 017 5555 หรือwww.nia.or.th

HTML::image( HTML::image(