วิศวฯ จุฬาฯ ติดอาวุธครูไทยยุค 4.0 จับมือ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น พัฒนาหลักสูตร เพื่อเพิ่มศักยภาพครูสู่โลกยุคดิจิทัล

20 Mar 2018
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรครูทั่วประเทศด้าน Digital Literacy ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ยุคดิจิทัล
วิศวฯ จุฬาฯ ติดอาวุธครูไทยยุค 4.0 จับมือ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น พัฒนาหลักสูตร เพื่อเพิ่มศักยภาพครูสู่โลกยุคดิจิทัล

สืบเนื่องจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินงานโครงการบริการวิชาการ และเป็นสถาบันที่เน้นการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ผลิตงานวิจัย ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย งานบริการวิชาการ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาการเรียนรู้และระบบการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มุ่งทำงานด้านการศึกษาของประเทศไทย ต้องการช่วยลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย โดยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้แบบผสมผสาน เป็นเครื่องมือช่วยครูจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ให้นักเรียนมีความเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น และเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ได้ตกลงร่วมกันในความร่วมมือเพื่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร และเปลี่ยนแปลงการศึกษาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมไทย

โดย รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงแนวคิดของความร่วมมือว่า "เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเชิงของเทคโนโลยี จากสมัยก่อนที่เทคโนโลยีหมายถึงเทคโนโลยีโดยรวม แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีนั้นได้เริ่มมีการแยกคำจำกัดความ โดยมีทั้งเทคโนโลยีเชิงกายภาพ เทคโนโลยีทั่วๆไป และสุดท้ายคือเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการเชื่อมต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ ผ่านทางซอฟต์แวร์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งจะเป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ทั้งหมด และสามารถทำให้ทุกอย่างบนโลกเชื่อมเข้าหากันอย่างง่ายดาย โลกดิจิทัลจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เราก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยที่ผ่านมาทั้ง 3 ยุคนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นผู้ตามมาโดยตลอด ซึ่งในยุคที่ 4 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ก็คือการปฏิวัติสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งหากเราไม่รีบเตรียมทรัพยากรและบุคลากรให้พร้อม ประเทศเราก็จะเป็นประเทศที่เป็นผู้ตามอย่างเดิมที่เคยเป็นมา โดยทางคณะจึงได้มีแนวคิดอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนสถานะประเทศไทยให้กลายเป็นผู้นำแห่งยุค"

โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการสร้างฐานความรู้ในเรื่องดิจิทัลทั้งหมด เพื่อนำมาเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงการสื่อสารและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยมุ่งเน้นที่ครูเป็นอันดับแรก ด้วยความคาดหวังว่าครูจะนำหลักและความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่เด็กๆ ทั้งประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มระดับของ Digital Literacy หรือความรู้ทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์ให้ทั่วถึงกันซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการ โดยหลักสูตรที่นำมาใช้อบรม จะมีตั้งแต่การใช้ซอฟต์แวร์ การเข้าใจ Algorithm หรือกระบวนการแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นตอน การรู้จักภาษาของคอมพิวเตอร์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังในปัจจุบัน ภาษาคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้ทั่วโลกคือภาษา Python ซึ่ง Python เองก็จะเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่นำมาใช้อบรมครูในโครงการนี้ด้วย

โดยจุดเด่นของโครงการอยู่ที่การใช้ระบบ E-Learning มาใช้เป็นสื่อการอบรม ผ่าน Platform กลางที่ชื่อว่า TrainKru (เทรนครู) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ซึ่งจะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2561 เพื่อให้ครูที่อยู่ไกลสามารถเรียนได้จากทุกที่ทุกเวลา และจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ครูมีโอกาสได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองไปด้วย และตามด้วยการ Workshop เพื่อให้ครูได้ทดสอบตนเองว่าสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อได้จริงหรือไม่ โดยคาดว่าโครงการนี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเทรนด์ 4.0 ที่กำลังอยู่ในกระแสรวมถึงการเปลี่ยนหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นเสมือนแรงกระตุ้นให้ครูทั่วประเทศต่างต้องการหาความรู้และเครื่องมือมาพัฒนาตนเองอยู่เสมอ อีกทั้งจะยังมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมผ่านช่องทางของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ตรงไปยังโรงเรียนในเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อให้เกิดความรับรู้ที่ทั่วถึง"

ในด้านของ นายธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ได้กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการว่า "โจทย์ที่ประเทศเรามีคือการ Transformation หรือทำอย่างไรให้ประเทศก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มตัวและมีประสิทธิภาพ โดย Digital Literacy นั้นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ซึ่งในปัจจุบันจำนวนครูทั่วประเทศมีอยู่กว่า 400,000 คน และอ้างอิงตามข้อมูลของ สสวท. หรือสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพบว่า ยังคงมีครูที่ต้องได้รับการพัฒนาเรื่อง Digital Literacy อีกกว่า 50,000 คน โดยใน 2 ปีตามความร่วมมือนี้ มีการตั้งเป้าว่าจะมีครูที่ได้รับการพัฒนาตามโครงการหลักหมื่นคนขึ้นไป เพื่อเป็นต้นแบบและจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงและยั่งยืนแก่เด็กๆในที่สุด"

และ ผศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้ายในฐานะวิทยากรผู้อบรมของโครงการว่า "การอบรมในโครงการนี้จะเป็นเสมือนการติดอาวุธให้กับครูไทยให้ได้พัฒนาตนเองในสาขาอาชีพของตน ทั้งในเชิงของการเพิ่มความรู้ และการได้มาเห็นแนวคิดและวิธีการสอนของผู้อื่น ซึ่งสามารถนำข้อดีไปปรับใช้ได้ เพราะอนาคตของเด็กทุกคนจะเป็นอย่างไร ครูถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดอนาคตเหล่านั้น"

หากคุณครูต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรอบรมพัฒนาครู ที่ วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จัดอบรม สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.trainkru.net หรือโทร 02-2314569, Line@ : @trainkru

HTML::image( HTML::image( HTML::image(