มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดเวทีเสวนา “จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?” พร้อม เผยสถิติ สิบปีที่ผ่านมา

01 Jun 2018
มีพนักงานขายบริการถูกล่อซื้อจนถูกจับ 300 คนต่อปี ซึ่งหนึ่งในนั้นจำนวนไม่น้อยไม่ได้ขายบริการ พร้อมจี้ภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งให้ยุติวิธีการล่อซื้อ
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดเวทีเสวนา “จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?” พร้อม เผยสถิติ สิบปีที่ผ่านมา

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดเวทีเสวนา "จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?" พร้อม เผยสถิติ สิบปีที่ผ่านมา มีพนักงานขายบริการถูกล่อซื้อจนถูกจับ 300 คนต่อปี ซึ่งหนึ่งในนั้นจำนวนไม่น้อยไม่ได้ขายบริการ พร้อมจี้ภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งให้ยุติวิธีการล่อซื้อเพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิและสร้างผลกระทบกับผู้หญิงและครอบครัวจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกความผิดการค้าประเวณี ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี โดยให้ใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองพนักงานบริการแทน ด้านตัวแทนพนักงานบริการเปิด 3 เคสหนักที่ได้รับผลกระทบจากการล่อซื้อ ต้องสูญเสียพ่อขณะโดนจับกุมคุมขัง ขณะที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประสานเสียง จี้ภาครัฐ "หยุดล่อซื้อ -นำตัวมาแถลงข่าว " พนักงานขายบริการ ชี้เป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีงานเสวนา "จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?" เนื่องในสัปดาห์ต่อต้านการค้ามนุษย์ 2561 จัดโดย มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผุ้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ , นางสาวไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ , พ.ต.ท.กฤตธัช อ่วมสน รองผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ,คุณอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการเสวนาโดยคุณปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ PROTECTION international หรือ PI

นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย ที่ผ่านมาแม้ทางรัฐบาลจะมีนโยบาย การต่อต้านการค้ามนุษย์มีไว้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิง แต่ผู้หญิงถูกจับ ถูกตัดขาดจากครอบครัว ถูกสอบปากคำอย่างหนัก ถูกขัง และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ หลายเดือนก่อนที่จะส่งกลับบ้าน ทั้งหมดนี้กระทำภายใต้แผ่นป้ายชื่อว่า "การคุ้มครองเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์" แต่เสมือนกับ "การโยนเกลือเข้าไปในแผลสด แล้วเรียกมันว่าการช่วยเหลือ" ไม่เท่านั้นการบุกทลายก็ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการกระทำที่รุนแรงต่อพนักงานบริการ และสร้างผลกระทบต่อพนักงานบริการทั้งหมด แต่ล่าสุดก็ยังมีการล่อซื้อ และการบุกทลายสถานบริการอยู่

นางสาวทันตา กล่าวด้วยว่า ในประเทศไทยมีพนักงานบริการประมาณ 3 แสนคน โดย 10 ปีที่ผ่านมามีการล่อซื้อพนักงานขายบริการและจับผู้เสียหายประมาณ 300 คนทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบกับคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นกรณีนาตาลีอาบอบนวดจับ 121 คน ได้ผู้เสียหาย 15 คน ล่าสุดกรณีวิคตอเรีย ซีเคร็ท จับผู้หญิง 113 คน ได้ผู้เสียหาย 8 คน ส่วนคนที่เหลือถูกจับข้อหามั่วสุมในสถานค้าประเวณี ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีเพื่อช่วยคนที่ด้อยโอกาส แต่จะเห็นว่าการจับกุมไม่ได้เป็นการให้โอกาสแต่อย่างใด ยกตัวอย่างกรณี นาตาลี อาบอบนวด ในปี 2559 ทำให้เห็นชัดเจนว่า ล่อซื้อและบุกทลาย ได้ละเมิดสิทธิของพนักงานบริการอย่างมาก

"เมื่อเดือน กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องรายงานต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ หรือซีดอ(CEDAW) ว่าที่ผ่านมาได้มีการปฏิบัติต่อผู้หญิงในประเทศยังไง ตามอนุสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ลงนามไว้ และ เอ็มพาวเวอร์ ได้ทำรายงานคู่ขนานไปยังคณะกรรมการซีดอ จากเหตุการณ์ร้านนาตาลีอาบอบนวด ที่กับสิ่งเกิดขึ้น ทำให้คณะกรรมการซีดอได้มีข้อเสนอให้กับรัฐบาลไทยต้องทำตามคือ ให้หยุดการล่อซื้อและบุกทลายทันที รวมทั้งให้ยกเลิกความผิดการค้าประเวณี ให้ใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองพนักงานบริการ พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลไทยรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคณะกรรมการซีดอ"ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวและว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่เปิดโอกาสให้มีการล่อซื้อพนักงานบริการ มีปัญหาเยอะมาก ซึ่งในสังคมไทยเราต้องยอมรับว่ามีกฎหมายหลายตัวอยู่แล้ว และกฎหมายหลายตัวนี้ ก็เกิดความทับซ้อนกันและส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากกว่าที่จะช่วยคน

ขณะที่ นางสาวไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า การล่อซื้อเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพนักงานบริการและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการเป็นอย่างมาก ซึ่งวิธีที่นิยมในการล่อซื้อพนักงานบริการ ส่วนมากผู้ล่อซื้อมักจะเข้าไปเป็นลูกค้าและมักจะถามว่ามีเด็กไหม โดยใช้วิธีมาเลือกผู้หญิงไปนั่งพูดคุยด้วย ทำตัวสุภาพ จ่ายทิปดี ซื้อดื่มให้ กลับมาหาบ่อยๆ ระยะ 2-3 เดือนสร้างความไว้ใจและสร้างความรู้สึกที่ดี จนทำให้เราไม่รู้ตัว เพราะต้องการสร้างพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นการหลอกล่อจูงใจให้เรากระทำความผิดไปด้วย จนกระทั้งวันที่ขึ้นห้องและถูกจับเราถึงรู้ว่าเราถูกล่อซื้อนี่คือวิธีการล่อซื้อกับพนักงานบริการ การล่อซื้อและบุกทลายเป็นข่าวที่ทุกคนติดตามสักพักหนึ่ง แต่หลังจากผู้หญิงถูกจับก็จะถูกลืมหรือไม่มีใครตามเรื่องอีกว่าผู้หญิงเป็นยังไง คดีถึงไหนแล้ว องค์กรที่ทำให้เราถูกจับไม่เคยมารับผิดชอบกับผลกระทบที่ตามมา ปล่อยให้เป็นภาระของภาครัฐ และองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ

นางสาวไหมยังได้ระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า และจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาถ้าเราจะพูดถึงผลกระทบของการล่อซื้อมันเกิดขึ้นชัดเจนมาก เพราะมีผู้หญิงที่ได้รับกระทบตั้งแต่เหตุการณ์บุกทลายและล่อซื้อ โดยเฉพาะกรณีของนาตาลี อาบอบนวด เมื่อปีพ.ศ. 2559และเหตุการณ์วิคตอเรียซีเคร็ทในปีนี้ได้รับผลกระทบมากถึง 234 คน ซึ่งคนที่เป็นที่เหยื่อก็ถูกคัดออกไปอยู่บ้านสงเคราะห์บ้านเกร็ดตระการและคนที่ได้รับผลกระทบคือคนที่อายุเกินและรอที่จะเป็นพยาน โดยคนที่ถูกกันเป็นพยานเขาจะคัดออกมาเป็นกลุ่มๆ และจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะต้องถูกส่งตัวไปอยู่ในตม. ซึ่งจะไม่มีใครรู้ถ้ามูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ไม่ได้เข้าไปหรือเพื่อนที่เป็นพนักงานบริการไม่ได้เข้าไปเยี่ยมเราก็จะไม่มีวันรู้เลยว่าเพื่อนของเราโดนผลกระทบอย่างไรบ้าง และเพื่อนของเราก็ไม่มีอะไรที่รองรับในเรื่องของการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานเลย ไม่มีการเข้าไปช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นของใช้ต่างๆ แชมพูเสื้อผ้าหรือผ้าอนามัยอะไรก็แล้วแต่คือผู้หญิงจะไม่ได้อะไรเลยหรือแม้กระทั่งเรื่องยารักษาโรคก็จะได้แค่ยาแก้ปวดกับยาพาราเท่านั้นยาแก้เจ็บคอไม่ได้ ยาเจ็บท้องเมนส์ก็ไม่ได้ ซึ่งมันก็จะทำให้ทรมานและเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะทำให้เรารู้สึกว่าสิทธิของเราหายไปไม่ได้สิ่งที่เราต้องการขั้นพื้นฐานเหล่านี้

"นี่คือสิ่งที่ผู้หญิงเล่าให้เราฟัง เมื่อไม่มีงบที่จะดูแลแล้วเอาเรามาขังไว้ทำไม ไม่ว่าเราจะผิดอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำอย่างไรกับเราก็ได้ เรายังเป็นมนุษย์ ยังมีสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับการคุ้มครอง" นางสาวไหมกล่าว

ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวต่อว่า ซึ่งวันนี้ตนขอนำเรื่องราวของเพื่อนๆ หลายคนที่ถูกจับและได้รับผลกระทบมาเล่าให้กับผู้เข้าร่วมงานในครั้งได้รับทราบว่าการล่อซื้อได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเราอย่างไรบ้าง กรณีแรกเป็นกรณีของน้องหวาน (นามสมมุติ) น้องหวานเป็นพนักงานบริการอาบอบนวดนาตาลี ซึ่งเป็นชาวต่างด้าว กล่าวว่า หลังถูกจับกุม ทำให้หวานไม่ได้กลับบ้านไปหาลูกเหมือนทุกครั้ง สุดท้ายหวานและลูกไม่ได้เจอหน้ากันนานถึง 48 วัน ทั้งที่หวานได้ให้ความร่วมมือเป็นพยานกับคดีนี้แล้ว แต่กลับถูกแสตมป์หนังสือเดินทางที่ห้ามเข้าประเทศไทยเป็นเวลาถึง 100 ปี โดยที่ลูกสาวของหวานและญาติอยู่ในประเทศไทย

ขณะที่น้องแตน (นามสมมุติ) ก็เป็นอีกหนึ่งในพนักงานบริการอาบอบนวดนาตาลี ซึ่งเป็นชาวต่างด้าวที่ได้รับกระทบกับการล่อซื้อและบุกทลายในครั้งนี้เช่นกันแตนออกจากบ้านมาหางานทำ เพื่อต้องการหาเงินเลี้ยงดู พ่อแม่ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร โดยไม่รู้ว่าตนเองอายุไม่ถึง 18 ปี ทำงานในสถานบริการไม่ได้ รู้แค่ว่าเป็นงานที่ทำได้และส่งเงินกลับบ้านได้เท่านั้น จนวันหนึ่งแตนถูกจับเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ และถูกส่งไปอยู่บ้านเกร็ดตระการ นานกว่า 8 เดือน แตนรู้สึกอึดอัดมากและไม่สามารถติดต่อใครได้เลย และหลังจากที่แตนได้สืบพยานล่วงหน้าในคดีค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ให้แม่มารับแตนกลับบ้าน แม่ของแตนต้องข้ามชายแดนมารับลูกสาวที่กรุงเทพ โดยได้รับเงินค่าเสียหาย 3,000 บาท ในระยะ 8 เดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีในกรณีของน้องต้นหอม (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นหนึ่งในพนักงานบริการอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเคร็ท ที่ถูกล่อซื้อและจับกุม ต้นหอมมาทำงานนี้เพื่อต้องการหาเงินมาผ่าตัดคุณพ่อ กระทั่งถูกจับ ซึ่งขณะถูกจับตำรวจไม่เชื่อว่าต้นหอมอายุเกิน 18 ปีแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่บังคับให้ต้นหอมไปตรวจมวลกระดูก ซึ่งผลการตรวจ กำหนดได้เพียงในระหว่าง อายุ 11-20 ปีเท่านั้น ที่ไม่สามารถบอกถึงอายุที่ชัดเจนได้ สุดท้ายต้นหอมถูกส่งไปบ้านเกร็ดตระการ ตอนนั้นพ่อป่วยหนักรอการผ่าตัดด่วน เขาอยากคุยกับลูกสาวมาก แต่ไม่สามารถติดต่อได้ สุดท้ายพ่อของต้นหอมเสียชีวิต ขณะที่แม่ของต้นหอมกินไม่ได้นอนไม่หลับ กระทั่งมีการจัดงานศพเสร็จสิ้นก็ยังไม่ได้รับรู้ข่าวทางบ้านเลย ต่อมาต้นหอมถูกพาไปตรวจมวลกระดูกรอบ 2 และผลออกมาว่าอายุเกิน 18 ปีจริง ตรงนี้จึงเป็นคำถามว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ การล่อซื้อ การบุกทลายจับกุมพนักงานบริการแบบนี้เป็นวิธีที่เราได้ช่วยเหลือได้ดูแลเหยื่อและครอบครัวจริงหรือไม่

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อปี 2555 ตนได้เคยทำงานวิจัยเรื่อง "การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง : สำรวจอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น" ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงความยุติธรรมของพนักงานบริการหญิง พบว่าการล่อซื้อพนักงานบริการที่ผ่านมา ของประเทศไทย เป็นไปเพื่อต้องการจับกุมหญิงที่ขายบริการ โดยในการ "ล่อซื้อ" การขายบริการทางเพศ เจ้าหน้าที่จะใช้หลักการเดียวกับการล่อซื้อเพื่อจับกุมผู้ค้ายาเสพติด คือ มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า โดยมีสายเข้าไปล่อซื้อโดยต้องจับให้ได้แบบ "คาหนังคาเขา" เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้ค้ายา ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาให้กระทำได้ เนื่องจากการหาพยานหลักฐานในคดียาเสพติดเป็นไปได้ยาก แต่ต่อมามีการนำวิธีการ "ล่อซื้อ" มาใช้กับพนักงานบริการหญิง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างกับการล่อซื้อยาเสพติด "

"การล่อซื้อพนักงานบริการ ถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล (Right to Privacy) ต้องเข้าใจว่าพนักงานบริการหญิงที่ถูกล่อซื้อ เขาอาจไม่ประสงค์ที่จะค้าประเวณีก็ได้ โดยที่เขาอาจต้องการทำงานบริการเพียงอย่างเดียว เพราะพนักงานบริการถือเป็นงานประเภทหนึ่ง มาจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการที่ผู้หญิงจะมีเพศสัมพันธ์กับใคร อาจเป็นความสมัครใจ ความรู้สึกพึงพอใจ เนื่องมาจากความไว้ใจเพราะคบหากันมานาน การล่อซื้อโดยการที่เจ้าหน้าที่เข้าตีสนิทจนเกิดความผูกพันจนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ และจับกุมผู้หญิงในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์ซึ่งถือเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างที่สุด จึงต้องระมัดระวัง อีกทั้งการบันทึกภาพ ในบางกรณีการล่อซื้ออาจมีผู้สื่อข่าวเข้าไปพร้อมเจ้าหน้าที่และมีการแถลงข่าว การล่อซื้อในลักษณะนี้ทำให้ผู้หญิงเกิดความอับอายอย่างที่สุด ผู้หญิงถูกตีตรา ซึ่งผลกระทบมิใช่เกิดกับตัวพนักงานบริการหญิงแต่ยังกระทบถึงครอบครัวของพวกเขา ซึ่งรวมถึงลูก หรือ เด็กๆด้วย ซึ่งพนักงานบริการหญิงหลายคนเห็นว่า การล่อซื้อเป็นเสมือนการ "ล่อให้กระทำผิด" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

นางอังคณา กล่าวต่อไปว่า กรณีหลังมีการล่อซื้อจับกุมพนักงานบริการ แล้วใช้ผ้าคลุมโม่ง มีงานวิจัยเรื่อง "เด็กคลุมโม่ง" ซึ่งเป็นงานวิจัยของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุชัดว่า คนที่ถูกจับคลุมโม่ง จะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็น "คนร้าย" หรือ ผู้กระทำผิด จึงต้องปกปิดอัตลักษณ์ของตนเอง หนำซ้ำยังถูกสังคมตรีตรา ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว ทำให้ในที่สุดต้องหลบหนีออกจากสังคม ตัวอย่างที่เห็นชัดสุด คือกรณีการจับกุมพนักงานบริการอาบอบนวดนาตาลี ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบและออกรายงานแล้วพบว่าพนักงานบริการหญิงที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่เป็นหญิงต่างชาติเมื่อถูกล่อซื้อและถูกจับกุม ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เพราะปกติคนในครอบครัวจะไม่รู้ว่าผู้หญิงนั้นประกอบอาชีพอะไร เนื่องจากอาชีพพนักงานบริการเป็นอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ หรือการอ้างเหตุผลใช้วิธีการ "ล่อซื้อ" พนักงานบริการที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเด็ก เพื่อที่จะเอาผิดต่อผู้กระทำผิด ขอยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้วิธีการล่อซื้อ เพราะตามกฎหมายสามารถใช้องค์ประกอบอื่นในการเอาผิดผู้กระทำผิดได้อยู่แล้ว อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย และสามารถป้องกันการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การล่อซื้อและนำตัวหญิงมาแถลงข่าวจึงไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากจะทำให้เกิดความอับอายและเกิดการตีตรามากขึ้นไปอีก

"กสม. ได้รับการร้องเรียนจากญาติผู้หญิงให้บริการที่ถูกบุกจับว่ามีหญิงชาวต่างด้าว และ ผู้หญิงจากบนพื้นที่สูงของไทย ถูกตม.ควบคุมตัว ปัญหาที่ผู้หญิงร้องเรียนคือไม่สามารถติดต่อกับญาติพี่น้องได้ เขาอยากกลับบ้าน แต่เจ้าหน้าที่ต้องการให้ผู้หญิงเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ ปัญหาคือถ้าเป็นพยานทำไมต้องให้ผู้หญิงไปอยู่ในที่ที่กักของตม. ที่มีสภาพแวดล้อมไม่ดีจนที่สุด มีญาติไปร้องต่อศาลว่าการกักตัวเป็นการกักที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงเชิญกสม.ไปให้ข้อมูล ทำให้ศาลบอกตม.ว่ากรณีผู้หญิงพื้นที่สูงเจ้าหน้าที่ต้องปล่อยตัวทันที ส่วนผู้หญิงต่างชาติถ้าต้องการเป็นพยาน และต้องปฏิบัติกับผู้หญิงเหล่านั้นในฐานะของพยาน ไม่ใช่ให้อยู่ที่กัก สุดท้ายเจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้หญิงไปอยู่ในบ้านพัก "นางอังคณากล่าว

กรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวอีกว่า ในส่วนของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราได้รับข้อร้องเรียนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ที่ทำงานช่วยเหลือพนักงานบริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการคุ้มครองพยานคดีค้ามนุษย์ หรือกรณีการล่อซื้อที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเนื่องจากการล่อซื้อการขายบริการทางเพศเป็นความอ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรระมัดระวัง โดยเฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีซึ่งถือว่าเป็นเด็กซึ่งต้องได้รับความคุ้มครอง

"ที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับเพศ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพัน ไปถึงครอบครัว และคนรอบข้างเรา เจ้าหน้าที่จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง การนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย สังคมอาจได้เพียงแค่ความสะใจ และอาจตีตราบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นคนผิด เป็นคนไม่ดี สมควรประณาม แต่ในทางกลับกันเรื่องนี้กลับเป็นความย้อนแย้ง ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง พร้อมกันนี้ขอให้รัฐบาลรับข้อเสนอแนะของซีดอ และคณะกรรมการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาปฏิบัติ และผลักดันให้เรื่องผู้หญิงควรพัฒนาใหห้เป็นกลไกระดับชาติ โดยใช้หัวใจมาคุยกันมองที่คุณค่าของทุกคน" นางอังคณากล่าว

ด้านพ.ต.ท.กฤตรัช อ่วมสน รองผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า เห็นใจผู้หญิงบริการ ขณะเดียวกันเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้เห็นว่าพระราชบัญญัติสถานบริการ เป็นเหมือนเครื่องมือในการให้กระทำความผิด เช่น กรณีของใบอนุญาตสถานบริการอาบอบนวด แต่กลับถูกไปใช้แสวงหาประโยชน์อย่างอื่นด้วย ซึ่งยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกเก็บผลประโยชน์ โดยการปล่อยปละละเลยไม่เข้าไปตรวจสอบ โดยรัฐบาลเองก็มีนโยบายที่จะเข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าอยากให้มีการจดทะเบียน ผู้หญิงให้บริการอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้ดูแลให้ถูกกฎหมาย และควรลงโทษกับผู้ชายที่เที่ยวผู้หญิงบริการด้วย

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการเสวนานางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้อ่านข้อเสนอจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ที่ขอเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกองค์กรโดยข้อเสนอระบุว่า ในปี พ.ศ. 2555 มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้เปิดตัวหนังสืองานวิจัย "ชนแล้วหนี" ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบาย และวิธีการต่อต้านการค้ามนุษย์ กับ สิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ หลังจากเปิดตัวหนังสือสถานการณ์บางส่วนดีขึ้น แต่การล่อซื้อ บุกทลาย ขัง ส่งกลับ ยังมีอยู่โดยหน่วยงานภาครัฐและเอ็นจีโอ และในปีพ.ศ. 2559 มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิฯ และส่งรายงานไปยังคณะกรรมการซีดอ(CEDAW) และทางคณะกรรมการซีดอได้มีข้อสรุปว่า ให้ประเทศไทยรักษาสัญญาที่ได้เซ็นอนุสัญญาไว้ให้ทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการซีดอโดยให้หยุดการบุกทลาย ล่อซื้อ และยกเลิกความผิดทางอาญากับพนักงานบริการ และให้ใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองพนักงานบริการทันที

เวลานี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการยกนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และรายงาน TIP report ที่กำลังจะออกมา ดังนั้นเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อให้ข้อเสนอของคณะกรรมการซีดอเกิดขึ้นได้จริงจึงเป็นโอกาสที่จะหาหนทางใหม่ในการยุติการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ในงานบริการ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้หญิงและเด็กไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่ก็ตาม เพราะฉะนั้นมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จึงเรียกร้อง ให้องค์กรที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์เปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิม มาใช้ความสามารถและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาจากรากฐาน และขอให้รัฐบาลไทยรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคณะกรรมการซีดอ(CEDAW) โดยยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และนำกฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองคนทำงานบริการแทน และข้อสุดท้ายขอให้รัฐประกาศนโยบายที่ไม่มีการล่อซื้ออีกต่อไป และหากยังมีการกระทำนี้อยู่ ต้องเอาผิดกับผู้กระทำหรือหน่วยงานนั้นทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนเวทีเสวนาจะสิ้นสุดลง ผู้ร่วมเสวนา และ ผู้ร่วมงาน ได้ร่วมคลุมโม่งบนเวที โดยใช้ผ้าขนหนูคลุมศรีษะ เหมือนที่ผู้หญิงให้บริการถูกกระทำเวลาถูกล่อซื้อ เพื่อแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการล่อซื้อ และสัมผัสถึงความรู้สึกของผู้หญิงบริการที่ถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวเวลาถูกถ่ายรูปเพื่อนำไปเผยแพร่สาธารณะโดยที่ไม่เต็มใจ

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดเวทีเสวนา “จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?” พร้อม เผยสถิติ สิบปีที่ผ่านมา มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดเวทีเสวนา “จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?” พร้อม เผยสถิติ สิบปีที่ผ่านมา มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดเวทีเสวนา “จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?” พร้อม เผยสถิติ สิบปีที่ผ่านมา