รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แนะเร่งยกเครื่องอุดมศึกษา ๔.๐ นำไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

29 Jun 2018
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง "การจัดการศึกษาเพื่อนำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง"
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แนะเร่งยกเครื่องอุดมศึกษา ๔.๐ นำไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

โดย ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สกศ. พร้อมผู้บริหาร นักวิชาการ นักการศึกษา และผู้แทนสถาบันการศึกษา จำนวน ๓๐๐ คน ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมเรนโบว์ ฮอลล์ ชั้น ๑๗ โรงแรมใบหยก สกาย กรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติบรรยายพิเศษความสำคัญตอนหนึ่งว่า การเพิ่มรายได้ของประเทศต้องพึ่งพาการผลิตเองในประเทศ ต้องปรับแนวคิดใหม่โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตประเทศ การพัฒนาการศึกษาโดยเฉพาะการยกระดับทรัพยากรมนุษย์จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ กระทรวงศึกษาธิการผลักดันหลายเรื่อง เช่น บัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างสมรรถนะ ปรับการเรียนการสอนใหม่ สร้างการเรียนรู้โดยภาคปฏิบัติ กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถมีสมรรถนะทำงานได้จริง พัฒนาให้เป็นกำลังคน ๔.๐ รองรับการพัฒนาไปสู่ประเทศไทย ๔.๐

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร กล่าวต่อว่า ประเทศไทย มีเป้าหมายสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) คือ ประเทศไทยต้องหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ภายในปี ๒๕๗๙ มุ่งเป้าชัดเจนเป็น ๔.๐ โดยใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ผลผลิตในประเทศเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มทางการศึกษามีส่วนสำคัญที่สุด โดยใช้ระบบอุดมศึกษานำร่องสร้างคน ๔.๐ ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาต้องใช้การวิจัยและพัฒนารองรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องก้าวเป็น ๔.๐ เสียก่อน อย่างไรก็ดี ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา คือแหล่งทรัพยากรมนุษย์ชั้นดีส่งเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ต้องเกิดความเชื่อมโยงกันในแต่ละระดับที่มีความสำคัญทั้งสิ้น

ปัญหาของประเทศวันนี้คือ ต้องมีความรู้เท่าทันโลกศตวรรษที่ ๒๑ สร้างให้เกิดการบ่มเพาะทักษะแก่ผู้เรียนเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เปลี่ยนจากการสอนเป็นการถามคำถาม สร้างให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เองได้ด้วยองค์ประกอบที่มีทั้งความรู้และทักษะ ตลอดจนการสร้างบุคลิกอุปนิสัยที่ดี เป้าหมายสำคัญต้องตอบโจทย์ของประเทศและโลก เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ กำลังงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานจะถูกแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) หากกระบวนการเรียนการสอน การดำรงชีวิตของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด การศึกษาต้องเตรียมคนที่มีคุณภาพสูง ศักยภาพสูง ทักษะสูง รองรับการแข่งขัน สร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่

รัฐบาลต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ปรับเปลี่ยนปรัชญาการศึกษาให้ตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการสร้างนวัตกรรม

ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD ประจำปี ๒๕๖๑ ไทย อยู่อันดับที่ ๓๐ จำเป็นต้องพัฒนาแก้ปัญหาการศึกษาให้ดีขึ้นสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อตอบโจทย์การแข่งขัน แต่จำเป็นต้องผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะ คุณภาพ และมีทักษะ ในการตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยของไทยต้องปรับตัวในหลายด้าน เพื่อพัฒนาทักษะ สมรรถนะกำลังคนที่ออกสู้ตลาดแรงงานสอดคล้อง New S-Curve สร้างศักยภาพกำลังคนให้มีความพร้อม

นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษา ต้องสร้างความร่วมมือกันขยายเครือข่ายการวิจัยอย่างเข้มแข็ง โดยแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อต่อยอดงานวิจัยไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ดังนั้น ต้องเร่งเปลี่ยนทัศนคติการศึกษาเสียใหม่ สร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างนวัตกรรมต่อยอดการพัฒนาประเทศให้ได้ หากสามารถผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพจากภาคการศึกษา หรือยกระดับคนนอกภาคการศึกษาทั้งสังคม ให้มีคุณภาพ มีศักยภาพ ย่อมก่อให้เกิดผลที่ดีต่อภาคการผลิต ภาคเศรษฐกิจและสังคม และนำพาประเทศไทยให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางในอนาคต

"มหาวิทยาลัย ต้องมุ่งมั่นสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง ไม่มีใครเก่งที่สุด แต่จะเก่งอย่างไรในศตวรรษที่ ๒๑ จึงต้องสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ สมรรถนะ และทักษะชั้นเยี่ยมเข้าสู่ตลาดแรงงาน เรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย ตอบโจทย์ประเทศไทย ๔.๐" ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม กล่าว

ต่อมาในการเสวนาเรื่อง "จัดการศึกษาอย่างไร ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศไทยรายได้ปานกลาง" โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ๔ ท่าน ร่วมเสวนาถ่ายทอดแนวคิดอย่างหลากหลายและมีประเด็นน่าสนใจยิ่ง

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าวว่า การจัดการศึกษาประสิทธิภาพแรงงานไทย การแข่งขันจึงต้องปฏิรูประบบการเกษตรเพิ่มมูลค่าพืชผลต่าง ๆ มีมูลค่าสูง ภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ฯลฯ มีมูลค่าสูงดีอยู่แล้ว ส่วนภาคอุตสาหกรรม ต้องเร่งใช้งานวิจัยสร้างนวัตกรรมใหม่ และดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างความเข้มแข็งและต่อยอดงานวิจัยที่มีมูลค่า

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า กอปศ. พยายามผลักดันและปรับปรุงกฎหมายการศึกษา เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น จัดระบบการศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างหลากหลายตั้งแต่การวางแผน ประเมินผล และพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเปิดให้มีการชี้นำการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยไปข้างหน้า และการศึกษายุคใหม่ต้องการคนเรียนรู้เก่ง ตั้งคำถามเพื่อแสวงหาคำตอบที่มีอยู่อย่างหลากหลาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ คันะมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า บุคลากรทางการศึกษาของไทย ควรปรับตัวและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะรูปแบบการดำรงชีวิตโลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนไปมาก บางอาชีพจะสญหายไป และการทำงานรูปแบบใหม่อาจไม่มีสถานที่ทำงานแต่สามารถทำงานได้จากทุกสถานที่ โลกการเรียนรู้ รวมไปถึงการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และจุดเริ่มต้นขึ้นกับตัวผู้เรียนเองเป็นสำคัญนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ต่อยอดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้

นางอัญชลี ชาลีจันทร์ ผู้จัดการส่วนงานองค์กรสัมพันธ์ บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่เป็นความรู้ที่มีอยู่รอบตัวเรา แนวทางการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอาชีวศึกษา ซึ่งตลาดแรงงานต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ทำงาน สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการทำงานได้ และมีแนวคิดจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์ และนำมาใช้ต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และสร้างมูลค่าได้ ซึ่งการเรียนรู้แบบของไทยสมควรนำมาเป็นแบบอย่างขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรม

นอกจากนี้ ยังได้แบ่งกลุ่มระดมความเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์แยกเป็น ๓ กลุ่ม ในช่วงบ่าย กลุ่มที่ ๑ อาชีวศึกษาและเอกชน กลุ่มที่ ๒ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และกลุ่มที่ ๓ อุดมศึกษาและการวิจัย

ทั้งนี้ สกศ. จะได้สรุปแนวคิดที่เป็นประโยชน์จากการประชุมวิชาการ เรื่อง การจัดการศึกษาเพื่อนำพำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง จัดทำเป็นข้อเสนอนโยบายการศึกษารายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

HTML::image( HTML::image( HTML::image(