สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ประกาศแต่งตั้ง ทรู อินคิวบ์

02 May 2018
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ประกาศแต่งตั้ง ทรู อินคิวบ์ ร่วมรับรองคุณสมบัติสตาร์ทอัพต่างชาติ ผู้มีสิทธิรับ SMART Visa ประเดิมพันธมิตรเอกชนรายแรกในไทย ร่วมเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต ขับเคลื่อนประเทศในยุค Thailand 4.0
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ประกาศแต่งตั้ง ทรู อินคิวบ์

ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในงานแถลงข่าวความร่วมมือ "สมาร์ทวีซ่า (SMART Visa)" โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แต่งตั้ง ทรู อินคิวบ์ เป็นพันธมิตรบริษัทเอกชนรายแรกในประเทศไทย ที่สามารถให้การรับรองคุณสมบัติของสตาร์ทอัพต่างชาติที่ยื่นขอสมาร์ทวีซ่า ประเภท SMART "S" โดยสตาร์ทอัพต่างชาติที่จัดตั้งหรือดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท และได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือ โครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) ของทรู อินคิวบ์ ซึ่งเป็นผู้นำด้านสตาร์ทอัพครบวงจรในการให้บริการและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก ด้วยระบบนิเวศระดับภูมิภาค จะได้รับการรับรองคุณสมบัติการเป็นผู้มีสิทธิได้รับสมาร์ทวีซ่า ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความก้าวหน้าของโครงการสมาร์ทวีซ่า เพราะประเทศไทยต้องการเป็น ศูนย์กลางของสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียน (Startup Hub of Southeast Asia) ต้องการดึงดูดบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup Tech Company) และ บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูง (Talent) ซึ่งสมาร์ทวีซ่าจะเป็นปัจจัยและแรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้บุคลากรชั้นนำด้านเทคโนโลยี (Tech Talent) ต่างๆมาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย นอกจากนี้ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการส่งเสริมการลงทุนและดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และผลักดันการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมใหม่ที่คาดว่าจะเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทศวรรษหน้า โดยอาศัยการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาและขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและสามารถผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นและระยะยาวอย่างยั่งยืนนายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีแนวทางในการส่งเสริมโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล โดยสนับสนุนการให้สิทธิและประโยชน์ในการลงทุน การวิจัยและพัฒนาการส่งเสริมนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นที่มาของ โครงการวีซ่าประเภทพิเศษ (SMART Visa) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูง หรือนักลงทุน เข้าทำงานหรือลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง โดย บีโอไอ ได้กำหนดประเภทของการรับรองคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับสมาร์ทวีซ่า ทั้งหมด 4 ประเภท โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่จะตรวจสอบและให้การรับรองคุณสมบัติของผู้ยื่นขอสมาร์ทวีซ่า ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ 1. SMART "T" (Talents) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2. SMART "I" (Investors) ลงทุนในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการทำธุรกิจและอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3. SMART "E" (Executives) ผู้บริหารระดับสูงที่ทำงานในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการทำธุรกิจและอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 4. SMART "S" (Startups) กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น ทั้งนี้ บีโอไอ มั่นใจว่า โครงการสมาร์ทวีซ่า จะช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ และนวัตกรรมที่สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่ "ประเทศไทย 4.0"

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ด้านระบบนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการสมาร์ทวีซ่า สอดรับกับแนวทางการดำเนินกลยุทธ์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ในการยกระดับนวัตกรรม สร้างธุรกิจใหม่ และการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรม เสริมให้มีผู้เชี่ยวชาญในประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระตุ้นการลงทุนในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้เทคโนโลยีและเป็นแหล่งเงินทุนให้คนไทย เพื่อเสริมศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย สนช. ได้ทำงานร่วมกับ บีโอไอ ในการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติของผู้ยื่นขอสมาร์ทวีซ่าสำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักลงทุน และสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท รวมทั้ง พิจารณาให้การรับรองคุณสมบัติของสตาร์ทอัพ ในกรณีที่ได้รับการร่วมลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ สนช. ยังร่วมมือกับภาคเอกชน ในการขยายโอกาสการได้รับสิทธิและประโยชน์สมาร์ทวีซ่าสำหรับสตาร์ทอัพต่างชาติ โดยได้แต่งตั้งให้ ทรู อินคิวบ์ เป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ได้รับการรับรองจาก สนช. ให้สามารถรับรองคุณสมบัติของสตาร์ทอัพต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือ โครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) ของทรู อินคิวบ์ ซึ่งสตาร์ทอัพที่ผ่านการรับรองและมีคุณสมบัติครบถ้วน จะได้รับสิทธิและประโยชน์สมาร์ทวีซ่า อาทิ ระยะเวลาวีซ่าครั้งแรก 1 ปี และขยายสูงสุดไม่เกิน 2 ปี/ครั้ง, ขยายเวลารายงานตัวเป็นทุก 1 ปี (จากปกติ 90 วัน), ทำงานในกิจการที่ได้รับการรับรองโดยไม่ต้องขอใบอนุญาต, ได้รับยกเว้นการขอ Re-entry Permit ในการเข้าออกประเทศไทย รวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับครอบครัวในการพำนักในประเทศไทย เป็นต้น

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรู อินคิวบ์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่แต่งตั้งให้ ทรู อินคิวบ์ เป็นพันธมิตรภาคเอกชนรายแรกในไทย ที่สามารถให้การรับรองคุณสมบัติของสตาร์ทอัพต่างชาติที่ขอรับสมาร์ทวีซ่า ประเภท SMART "S" โดยสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือ โครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) ของทรู อินคิวบ์ จะได้รับการรับรองดังกล่าวโดยอัตโนมัติ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของหน่วยงานภาครัฐในศักยภาพและมาตรฐานโปรแกรมบ่มเพาะของทรู อินคิวบ์ ซึ่งเป็นผู้นำด้านสตาร์ทอัพครบวงจรในการให้บริการและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก ด้วยระบบนิเวศระดับภูมิภาค ภายใต้ 4 พันธกิจหลัก ทั้งการสร้างแรงบันดาลใจ, สร้างนวัตกรรม, บ่มเพาะธุรกิจ และการลงทุน นอกจากนี้ เพื่อขยายโอกาสการได้รับสิทธิและประโยชน์สมาร์ทวีซ่าในกลุ่มสตาร์ทอัพชาวต่างชาติ ทรู อินคิวบ์ จึงเตรียมเปิดรับสตาร์ทอัพจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม โครงการ "ScaleUp Batch 5 Startup Grandprix" โปรแกรมบ่มเพาะที่เพิ่มดีกรีความเข้มข้นในระดับภูมิภาค (Regional) ด้วยการผนึกความแข็งแกร่งของเหล่าโค้ชที่เป็นสตาร์ทอัพผู้ก่อตั้งธุรกิจในไทยและอาเซียน เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพไทยให้ประสบความสำเร็จได้ในเวทีโลก ยิ่งไปกว่านั้น ทรู อินคิวบ์ ยังเตรียมขยายโปรแกรมบ่มเพาะและกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่โครงการ ทรู ดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท 101 ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของไทย ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการราวปลายปีนี้ เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศครบวงจรสำหรับสตาร์ทอัพไทยด้วย