เกษตรกรมันสำปะหลังเดือดร้อนหนัก ต้นทุนพุ่ง แจงรัฐช่วยด่วน

18 May 2018
กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก ผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น หากไม่ให้ใช้สารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช รวมตัวชี้แจงรายละเอียด พาราควอตจำเป็นต่อการเกษตร และกลุ่มนักวิชาการและแพทย์ชี้ข้อเท็จจริงแล้วว่า พาราควอต ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคและอาการต่าง ๆ รวมถึงไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
เกษตรกรมันสำปะหลังเดือดร้อนหนัก ต้นทุนพุ่ง แจงรัฐช่วยด่วน

นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายก สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังสูงกว่า 550,000 ครัวเรือน ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 7.9 ล้านไร่ ผลผลิตสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 2 ของโลก และส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกสูงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยผลผลิตสามารถใช้ได้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย เพื่อการบริโภค อุปโภค และใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน เอทานอล

ประเทศไทยใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด โดยแต่ละโรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ISO GMP HACCP ขณะเดียวกัน สำนักงานมาตรฐานสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อน

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สารพาราควอต เป็นเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตที่สำคัญ มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ให้ผลดีกว่าสารชนิดอื่นๆ พาราควอตจะทำลายเฉพาะส่วนที่เป็นสีเขียวของวัชพืชเหนือดิน ไม่ทำลายระบบรากใต้ดิน ในทางกลับกัน การใช้พาราควอตมีส่วนช่วยในการรักษาหน้าดินและลดการสูญเสียน้ำในดิน เพราะซากวัชพืชจะช่วยคลุมดินไว้ ขณะเดียวกัน พาราควอตไม่สะสมในดิน เนื่องจาก พาราควอต จะสลายตัวโดยแสงและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดิน หากมีการสะสมในดินจริง วัชพืชคงไม่เติบโตขึ้นในพื้นที่เดิมที่เคยใช้สารพาราควอต รวมถึงกลุ่มนักวิชาการและแพทย์ชี้ข้อเท็จจริงแล้วว่า พาราควอต มีความจำเป็นต่อเกษตรกร และประเด็นด้านสุขภาพจากเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาการต่าง ๆ ดังกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ ยังคงมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในอีกหลายประการเกี่ยวกับสารพาราควอตกับการเกษตร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องพบสารพาราควอตตกค้างในเห็ด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการใช้สารดังกล่าวในการเพาะเห็ด เนื่องจากเห็ดเป็นการเพาะในระบบปิดหรือโรงเรือนปิดที่มีการควบคุม ส่วนคำกล่าวอ้างที่พาราควอตปนเปื้อนแหล่งน้ำและเห็ดธรรมชาติดูดซึมเข้าไปได้จนเป็นพิษนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากพาราควอตไม่เจือปนในน้ำ เพราะจะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคดิน และตะกอนดินในน้ำและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในที่สุด

นายสมบัติ ศรีจันทร์รัตน์ รองเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยลำมูลบน กล่าวว่า การใช้พาราควอต เห็นผลในเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังฉีดพ่น ออกฤทธิ์เฉพาะส่วนสีเขียวที่ได้รับสารเท่านั้น เช่น หากฉีดโดนใบ ก็จะทำให้ใบไหม้เท่านั้น จึงเรียกพาราควอตว่า ยาเผาไหม้ ไม่ดูดซึมเข้าราก หรือต้นพืช ปลอดภัยต่อพืชประธาน หรือ มันสำปะหลัง ส่วนการใช้เครื่องจักรมาช่วยในการกำจัดวัชพืชนั้น มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในเรื่องราคาต้นทุนของอุปกรณ์สูง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อมาครอบครองได้ และไม่สามารถใช้ได้เมื่อฝนตก รวมทั้ง การใช้เครื่องจักร อาจทำให้เกิดความเสียหายกับมันสำปะหลังได้ นอกจากนี้ การใช้พืชคลุมดินเพื่อกำจัดวัชพืชนั้น ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เนื่องจาก การใช้พืชคลุมดิน เป็นการเพิ่มต้นทุนและเวลาในการทำงาน อาทิ ค่าเมล็ดพันธ์พืชคลุมดิน ค่าสารกำจัดวัชพืช ค่าปลูกพืชคลุมดิน ค่าไถกลบพืชคลุมดิน ดังนั้น จึงไม่มีแนวทางใดที่จะสามารถนำมาใช้ทดแทนสารพาราควอต ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และต้นทุนได้ ณ ปัจจุบัน

ปัจจุบัน ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้ดีขึ้น แต่การยกเลิกไม่ให้ใช้ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต เหมือนเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรไม่ให้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก เพราะทำให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากเดิมใช้สารพาราควอตต้นทุน ประมาณ 150 บาทต่อไร่ หากใช้แรงงานคน ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น 300-600 บาทต่อไร่ และใช้เวลาในการทำงานเพิ่มขึ้น

ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐคำนึงถึง เกษตรกร ในฐานะกระดูกสันหลังของชาติมาเป็นอันดับแรก เพราะเกษตกรกรคือ ผู้ผลิตแหล่งอาหารสำคัญให้แก่ประชาชนคนไทย และประชากรโลก หากเกษตรกรไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ ก็ไม่สามารถผลิตอาหารให้ทุกคนบริโภคต่อไปได้เช่นกัน

สอบถามข้อมูลได้ที่

สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โทรศัพท์ 044-212-370