เกี่ยวกับกระแสข่าวที่โรงงานยาสูบเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกหรือทบทวนแก้ไขโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ซึ่งโรงงานยาสูบมองว่าทำให้กิจการของตนเสียเปรียบผู้นำเข้าบุหรี่นั้น นายสเตฟาน ทอร์สเตน ทอยเชอร์ต ประธานสมาคมยูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ กล่าวว่า กฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่บังคับใช้กับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตทุกประเภท มิใช่แค่กับบุหรี่เท่านั้น หลังจากกฎหมายสรรพสามิตใหม่มีผลบังคับใช้ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่างก็มีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมใหม่นี้อยู่ตลอด ดังนั้นการบังคับใช้จึงต้องเป็นไปโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
"ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ให้คำมั่นต่อภาคธุรกิจมาตลอดว่าพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 จะสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันอย่างเท่าเทียม (level-playing field) สำหรับผู้เล่นทุกรายไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตในประเทศหรือผู้นำเข้า ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักแห่งระบบภาษีที่ดี และยังจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของธุรกิจต่างชาติในการประกอบกิจการในประเทศไทย" นายทอยเชอร์ต กล่าว
นายแดเนียล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามพันธกรณีในมาตรา 3 (การปฏิบัติเยี่ยงชนชาติ) ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) ซึ่งเป็นรากฐานขององค์การการค้าโลก (WTO) นั้น ภาษีหรือกฎระเบียบใดๆ ภายในประเทศจะต้องไม่ถูกนำไปบังคับใช้ในลักษณะที่เป็นการปกป้องการผลิตภายในประเทศ ดังนั้น จึงขอแสนอแนะรัฐบาลไทยให้ยึดมั่นพันธกรณีดังกล่าว ในการพิจารณากำหนดและใช้บังคับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของสินค้าทุกชนิดมิใช่เฉพาะบุหรี่เท่านั้น
นอกจากนี้ การยกเลิกหรือแก้ไขโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของสินค้าบุหรี่หรือสินค้าใดๆ เพื่อเป็นการปกป้องการผลิตภายในประเทศอาจสร้างตัวอย่างให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ หรือให้แก่กฎระเบียบอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจต่างชาติในประเทศไทยได้
"ประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาษีและกฎระเบียบใดๆ ภายในประเทศจะต้องเอื้อต่อการพัฒนาของการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยได้ต่อไป" นายทอยเชอร์ต กล่าวทิ้งท้าย