นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เปิดเผยถึง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ครั้งนี้ว่า กยท. ตระหนักและให้ความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราอย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ฉะนั้น การร่วมมือระหว่าง กยท. และ กฟผ. ในการจัดหาวัตถุดิบจากเศษไม้ยางพาราในสวนปลูกแทนและในพื้นที่ของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เพื่อนำวัตถุดิบเหล่านี้ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลของ กฟผ. ซึ่งเป็นแนวทางในการเพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้นจากการขายไม้ยางพารา รวมทั้ง สนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูกไม้โตเร็ว 5 ชนิด ได้แก่ กระถินเทพณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ สนประดิพัทธ์ และยูคาลิปตัส ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะการปลูกไม้โตเร็ว สามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงก้อนพลังงานอัดเม็ดหรือWood Pellet ป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดผู้รับซื้อเป็นจำนวนมาก จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงที่ไม่สามารถเก็บน้ำยางได้ ตลอดจนในช่วงที่ราคายางมีความผันผวน โครงการนี้ เกษตรกรในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบ สามารถบริหารจัดการพื้นที่ของตนเองให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบผสมผสาน ที่จะช่วยสร้างรายได้แบบหมุนเวียน
นายธีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรชาวสวนยางที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับพันธุ์กล้าไม้โตเร็วทั้ง 5 ชนิดได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในส่วนของ กยท. จะดำเนินการจัดหากลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีเกษตรกรจะสามารถตัดโค่น และขายไม้ให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลของ กฟผ. ได้ ซึ่งเบื้องต้นจะนำร่องรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ในจังหวัดบึงกาฬเป็นแห่งแรก พื้นที่จำนวนทั้งสิ้น 6,500 ไร่ และจะขยายโครงการไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
"โรงไฟฟ้าชีวมวล นอกจากจะเป็นพลังงานทดแทนแล้วยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และครอบครัว เพราะปัจจุบันตลาดมีความต้องการใช้ไม้ยางพารา และไม้ชนิดอื่นๆ สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลังงาน การปลูกไม้โตเร็วนั้นไม่ยาก สามารถปลูกได้พร้อมๆ กับปลูกยางพารา และสามารถตัดขายได้ ในช่วงระหว่างรอการเปิดกรีด" รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ภาครัฐมีนโยบายปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สูงขึ้น ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว พ.ศ. 2558 – 2579 (Thailand Integrated Energy Blueprint : TIEB) นั้น ได้กำหนดให้มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากพื้นที่ที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกัน กฟผ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชีวมวล โดยเฉพาะไม้ยางพารา ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีปริมาณมากในประเทศไทย และเศษวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปไม้ยางพารา ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ประกอบกับ กยท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบในการดูแลบริหารจัดการยางพาราในประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร จึงเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มีเจตนาร่วมกันที่จะจัดทำโครงการจัดหาวัตถุดิบจากเศษไม้ยางพาราและส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็ว เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลของ กฟผ. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
"ทั้งสององค์กรจะร่วมกันจัดหาวัตถุดิบจากเศษไม้ยางพารา เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลของ กฟผ. ส่งเสริมและพัฒนาการปลูกไม้โตเร็ว จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ปลูกไม้ยางพารา และร่วมกันหาแนวทางในการเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการ" นายสหรัฐ กล่าวทิ้งท้าย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(