นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารผู้จัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า กรมชลประทานได้มีการปรับลดการระบายที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และการรับน้ำของฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก โดยมีการปรับลดการระบายน้ำภาพรวม 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ลดลงไปแล้ว 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยทางฝั่งตะวันตกลดลงไป 90 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และฝั่งตะวันออกอีก 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มลดลงประมาณ 15-20 ซม. ส่วน อ.เมืองสิงห์บุรีจ.สิงห์บุรี และ จ.อ่างทอง ลดลง 10 ซม. ส่วนบริเวณคลองโผงเผง และคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลงประมาณ 6-8 ซม. และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ลดลงตามลำดับ รวมทั้งได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย สำหรับแผนการระบายน้ำออกจากทุ่ง กรมชลประทานได้เริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จะเริ่มระบายน้ำอีก 12 ทุ่งตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม น้ำที่จะระบายออกจะต้องผ่านระบบของชลประทานก่อนแล้วจึงกระจายออกไปทางฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยอยู่เดิมที่มีน้ำล้นตลิ่งนอกคันกั้นน้ำ
ขณะที่การเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยทางภาคใต้นั้น ขณะนี้กรมชลประทานได้ย้ายเครื่องจักรเครื่องมือไปประจำไว้ที่ศูนย์พื้นที่ทางภาคใต้แล้ว อาทิ เครื่องสูบน้ำ จำนวน 380 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 180 เครื่อง และเครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้สนับสนุนภารกิจ รวมทั้งได้ควบคุมน้ำในอ่างเก็บน้ำ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และพร่องน้ำเตรียมไว้แล้ว พร้อมทั้งมีการสร้างการรับรู้และความเข้าใจไปยังจังหวัด กระทรวงมหาดไทย และประชุมร่วมกับชลประทานเขต กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตลอดทั้งการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit