"สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่า มีโค-กระบือ ปากเท้าเปื่อยนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง โดยสั่งการให้กรมปศุสัตว์ตรวจสอบในพื้นแล้ว พบว่า เป็นแผลที่เกิดจากการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะดำเนินการรักษาโดยทีมสัตวแพทย์ที่คอยดูแล ไม่มีการปล่อยให้โค-กระบือที่มีปัญหาลงในพื้นที่ ขอให้ประชาชนสบายใจได้" พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของโครงการโคบาลบูรพาทั้ง 3 ด้านว่า 1. ด้านความพร้อมเกษตรกร มีการฝึกอบรมเกษตรกร และพาศึกษาดูงาน รวมกลุ่มเตรียมจัดทำคอกเลี้ยงไว้รอ 2. การเตรียมความพร้อมด้านอาหารสัตว์ มีเกษตรกรจำนวน 2,000 ราย ได้ปลูกพืชอาหารสัตว์ จำนวน 10,000 ไร่ และสร้างโรงเรือนแล้ว 2,000 หลัง ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการเร่งรัดดำเนินการ 3. ความพร้อมของสัตว์และคอกกักสัตว์ จะกักเลี้ยงดูอาการไม่น้อยกว่า 21 วัน ในคอกกักของกรมปศุสัตว์ โดยจะทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ถ่ายพยาธิ เจาะเลือด ตรวจโรค ฉีดวัคซีน พ่นยาฆ่าเชื้อ และกักโรคต้นทาง เมื่ออาการปกติแล้ว จึงเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังคอกพักสัตว์ปลายทาง ในพื้นที่ที่กรมปศุสัตว์กำหนด อยู่ในคอกรวมเพื่อปรับสภาพอีกไม่น้อยกว่า 3 วัน และมีคณะกรรมการตรวจสอบ ตรวจรับ ตามรายละเอียดคุณลักษณะ ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังในระหว่างการเคลื่อนย้าย ไม่ให้สัตว์เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งในการดูแลสัตว์ในพื้นที่ปลายทางนั้นได้เตรียมชุดสัตวแพทย์ดูแล 30 ชุด อำเภอละ 10 ชุด เพื่อให้สัตว์ฟื้นสภาพโดยเร็วและดูแลสัตว์จนกว่าจะตั้งท้อง