ด้านนายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยถึงความคืบหน้าของโครงการโคบาลบูรพา ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงโค-แพะ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว นั้น ขณะนี้คณะกรรมการได้คัดกรองเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 6,100 คน ตามเป้าหมายแล้ว และมีการอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความรู้ ความสามารถในการเลี้ยงโคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการส่งมอบพันธุ์สัตว์ ให้เกษตรกรแล้ว 163 ราย จำนวนโค 1,075 ตัว เป็นเกษตรกรในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ 126 ราย จำนวนโค 630 ตัว เกษตรกรในพื้นที่อำเภอวัฒนานคร 37 ราย จำนวนโค 185 ตัว และจะมีการส่งมอบโคให้เกษตรกรในพื้นที่วัฒนานครในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 นี้ อีก 260 ตัว ด้านการปลูกพืชอาหารสัตว์มีเกษตรกรจำนวน 2,000 ราย ได้ปลูกพืชอาหารสัตว์ จำนวน 10,000 ไร่ และสร้างโรงเรือนแล้ว 2,000 หลัง ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการเร่งรัดดำเนินการ
ในด้านการจัดหาพันธุ์สัตว์ ดำเนินการโดยวิธีการประกวดราคา แล้ว 2 ครั้ง เป็นโคจำนวน รวม 30,000 ตัว ในขั้นตอนการเตรียมพันธุ์สัตว์ให้เกษตรกร โคที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกตัว จะผ่านการจัดทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ถ่ายพยาธิ เจาะเลือด ตรวจโรค ฉีดวัคซีน พ่นยาฆ่าเชื้อ และกักโรคต้นทาง ณ สถานที่ที่กรมปศุสัตว์กำหนด อย่างน้อย 21 วัน โดยดำเนินการตามหลักวิชาการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และจากนั้นจึงเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังคอกพักสัตว์ปลายทาง ในพื้นที่ที่กรมปศุสัตว์กำหนด เพื่อการกักสัตว์อาการ มีการพ่นยาฆ่าเชื้อ และมีคณะกรรมการตรวจสอบ ตรวจรับ ตามรายละเอียดคุณลักษณะ ทั้งนี้ การส่งมอบพันธุ์สัตว์ให้เกษตรกรในพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และผู้ประกอบการที่รับผิดชอบ จะขนส่งโคให้เกษตรกรถึงโรงเรือน รายละ 5 ตัว
สำหรับคุณสมบัติและเกณฑ์การคัดเลือกเกษตรกรร่วมโครงการฯ คือ เกษตรกรจะต้องมีที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการมาตั้งแต่ปี 2557-2560 และมีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ 5 ไร่ต่อราย หลังผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและอบรมเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรจะได้รับเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ใช้ก่อสร้างโรงเรือนรายละ 58,000 บาท และเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ต้องทำสัญญากู้ยืมโคเนื้อเพศเมียลูกผสมพื้นเมืองรายละ 5 ตัว เพื่อนำไปเลี้ยงจนได้ลูกและส่งคืนลูกโคเพศเมียอายุ 12 เดือน ให้โครงการ 5 ตัว เพื่อนำไปให้เกษตรกรรายใหม่ยืมไปเลี้ยงต่อ เกษตรกรที่ทำสัญญากู้ยืมโคจึงได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าของโครุ่นแรกเต็มรูปแบบ ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะก็เช่นกัน เกษตรกรที่ร่วมโครงการแต่ละรายจะได้รับฝูงแพะเพศเมีย 30 ตัว เพศผู้ 2 ตัว และต้องส่งลูกแพะเพศเมียอายุ 6 เดือน จำนวน 32 ตัว คืนให้โครงการ จึงได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าของฝูงแพะที่ได้ยืมไปอย่างถาวร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit