นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเกษตรเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวมากขึ้น สามารถพัฒนาผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปผลผลิตได้ โดยการต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรมในด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและยกระดับรวมทั้งเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ไปสู่ SMEs 4.0 และมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป หรือ SMEs เกษตรได้ จึงได้เกิดเป็นความร่วมมือดังกล่าวขึ้น
"สำหรับในส่วนของ ส.อ.ท. โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรนั้น มีขอบเขตความร่วมมือหลัก คือ 1) การสนับสนุนในด้านการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรอย่างถูกวิธี และนำเสนอเครื่องจักร พร้อมหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ 2)ประสานการดำเนินโครงการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และ 3) ให้ความร่วมมือกับ กสอ. และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการบริหาร ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง" นายเจน กล่าว
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก (Local Economy) "สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ เศรษฐกิจฐานราก" พร้อมทั้งกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SME สู่ยุค 4.0 จำนวน 9 มาตรการ ซึ่งโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ เป็นหนึ่งในมาตรการดังกล่าว มีกลุ่มเป้าหมาย 600 กลุ่มทั่วประเทศ จำนวน 55,000 คน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน– เดือนกันยายน 2561 โดยคาดว่าจะสามารถสร้างผู้ประกอบการเกษตรแปรรูป และ SMEs เกษตรเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40
การลงนามความร่วมมือโครงการ "ปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ" ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาเกษตรกรแห่งชาติในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการผลิตให้กับเครือข่าย และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ เพิ่มผลิตภาพให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อและความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อยกระดับการแปรรูปผลผลิตสินค้าเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการปรับเปลี่ยนจากการขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบที่ได้ราคาต่ำ เป็นการทำเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยง ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาดอย่างครบวงจร รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้มีความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (SMEs เกษตร) ที่มีความรู้ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณภาพ" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ขณะที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นตัวแทนของเกษตรกรที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร รวมทั้งประสานกับภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางเกษตรกรรม ตามความต้องการที่แท้จริงของภาคเกษตรกรรม โดยมุ่งเป้าไปที่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรอย่างยั่งยืน องค์กรเกษตรกรเข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานและการจัดการทั่วถึง เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 เป็นแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ. 2560 - 2564 และที่เห็นผลเป็นรูปธรรมขณะนี้ คือ นโยบายเกษตรอุตสาหกรรมด้วยการปรับเปลี่ยนจากขายผลผลิตที่ได้ทันที เป็นการแปรรูปผลผลิตที่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งในปี 2561 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปไทย (SMEs) ตามแนวทางประชารัฐ โดยบทบาทของสภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ การเตรียมความพร้อมขององค์กรเกษตรกรโดยการสำรวจความต้องการขององค์กรเกษตรกร เพื่อเข้ารับการพัฒนาศักยภาพในด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมูลค่า รวมทั้งพัฒนาการบริหารจัดการตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด
ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินโครงการฯ กสอ. จะมีหน้าที่ในการชี้แจงทำความเข้าใจรายละเอียดและประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการให้กับวิสาหกิจกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ โดยมีกิจกรรมทั้งสิ้น 3 กิจกรรมด้วยกัน คือ 1) การอบรมบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการ (Farmer to Entrepreneur) เช่น การบริหารจัดการ บัญชี การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ มาตรฐาน การเชื่อมโยงเครือข่าย 2) การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น (Value Added) และ 3) สนับสนุนโดยจัดตั้งหน่วยผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปต้นแบบในพื้นที่ เช่น กลุ่มสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จังหวัดเพชรบุรี (แปรรูปกล้วยหอมทอง) และสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ (แปรรูปหมอนยางพารา) ซึ่งการดำเนินงานจะบูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ ประกอบด้วย 1) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 2) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย 3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4) กระทรวงพาณิชย์ 5) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 6) สมาคมเครื่องจักรกลไทย 7) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 8) บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และ 9) บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ( Central Lab Thai) โดยคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตามแนวนโยบายการพัฒนาประเทศ 4.0 และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit