นายกฤษฏา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาขณะนี้ก็เพื่อทำให้ปริมาณความต้องการใช้อย่างทั้งในและนอกประเทศมีความสมดุลกันกับผลผลิตยางในแต่ละปี จากปัจจุบันปริมาณผลผลิตยางในประเทศ 4.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีการส่งออกที่ประมาณ 3.8-4 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะต้องลดปริมาณผลผลิตยางลงอีก 1 ล้านตันต่อปี มาอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี โดยยังคงเป้าหมายที่จะไม่เพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีมาตรการโค่นยาง เพียงแต่ให้ทางเลือกเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทน หรือปลูกเสริม เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการลดกรีดยางที่ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้โดยมี 2 แนวทางที่จะพิจารณา คือ ลดกรีดยาง 3 ล้านไร่ระยะเวลา 3 เดือน หรือจะลดกรีดยางแบบวันเว้นวันตลอดทั้งปี ซึ่งอยู่ระหว่างการคำนวณตัวเลขผลผลิตยางที่จะออกสู่ตลาดที่ชัดเจน รวมถึงงบประมาณรองรับในระหว่างที่เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ ทั้งนี้ มาตรการหยุดกรีดยางนั้นไทยจะไม่ทำเพียงประเทศเดียวแต่จะนำไปหารือกับผู้ผลิตยางรายใหญ่อีก 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามในวันศุกร์ (2 มี.ค.) นี้ รวมถึงประเทศอินเดียซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มมียางออกสู่ตลาดโลกมากขึ้นด้วย หากทางอินเดียสนใจก็จะเชิญหารือร่วมกันด้วย
"สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ คิดและดำเนินการยังคงเน้นมาตรการที่จะต้องไม่กระทบกลไกตลาด ระบบเศรษฐกิจ และงบประมาณประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและเน้นย้ำไม่ให้เอาตัวเลขราคาพืชผลมาใช้หาเสียงหรือสร้างผลงาน แล้วต้องทำอะไรผิดระบบงบประมาณ ทำลายเศรษฐกิจ แต่กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการอย่างถูกต้อง ให้ชาวสวนยางรวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ดำรงอยู่ได้ แม้ว่ามาตรการที่ออกมาจะไม่ส่งผลต่อราคาที่มีการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่ราคาจะต้องมีเสถียรภาพ และที่สำคัญอีกมาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ จะหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการใช้อำนาจตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 มาดูกลไกราคายางพาราได้ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการราคายาง ที่มีอำนาจนหน้าที่ดูต้นทุนการผลิตยาง ราคาเหมาะสมรับซื้อ และราคาส่งออก โดยองค์ประกอบของกรรมการประกอบด้วย ภาคราชการ เอกชน และชาวสวนยาง" นายกฤษฎา กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit