ชมรมนักวิทยุสมัครเล่น มทร.ธัญบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ รุ่นอุดมศึกษา ARDF RAST TROPHY

27 Dec 2017
2 หนุ่มจาก ทีม HAM_RMUTT นายธนภัทร ยอดสุข และ นายกฤษฎา ไกลพาล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชมรมนักวิทยุสมัครเล่น มทร.ธัญบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ รุ่นอุดมศึกษา การแข่งขันกีฬาหาทิศทางสัญญาณวิทยุ ARDF RAST TROPHY ครั้งที่ 1 จัดโดย สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี 4 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร มหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
ชมรมนักวิทยุสมัครเล่น มทร.ธัญบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ รุ่นอุดมศึกษา ARDF RAST TROPHY

นายธนภัทร ยอดสุข เล่าว่า สำหรับโจทย์ในการแข่งขัน คือ การหาแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุ โดยใช้อุปกรณ์วิทยุโทรคมนาคมซึ่งจะซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆ จำนวน 6 ตัว โดย 5 ตัวจะเป็นตัวที่ต้องหา และอีก 1 ตัวเป็นจุดเส้นชัย โดยมีการกำหนดเวลาที่ใช้ในการหา 140 นาที ซึ่งทางทีมชมรมวิทยุสมัครเล่น มทร.ธัญบุรี จึงได้คิดค้นอุปกรณ์และสายอากาศที่ใช้ในการหาแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุดังกล่าว ซึ่งใช้คอนเซปสร้างง่าย แม่นยำ ซึ่งใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ผนวกกับสัญญาณ RF จากเครื่องวิทยุสื่อสาร มาแสดงผลขึ้นจอ LCD และส่งสัญญาณเสียงออกลำโพง เมื่อเข้าใกล้แหล่งกำเนิดสัญญาณส่วนสายอากาศยังคงรูปแบบเดิมๆ ที่ใช้กันคือทำจากตลับเมตร แต่ปรับแต่งเพื่อให้มุมการรับสัญญาณให้แคบลงเพื่อที่จะให้รับสัญญาณได้แม่นยำ ส่วนอุปกรณ์ลดทอนสัญญาณใช้ทิ้งแบบ Passive และ Active ผนวกกันทำให้สามารถลดทอนสัญญาณเมื่อเข้าใกล้แหล่งกำเนินสัญญาณทำให้สามารถค้นหาได้ง่าย สำหรับในการคิดค้นอุปกรณ์ในครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ชมรมคือ นายวรรณชนะ ปรากฏผล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์

นายกฤษฎา ไกลพาล เล่าเพิ่มเติมว่า ในการแข่งขันครั้งนี้ ช่วยกันหาทิศทางของสัญญาณโดยใช้อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งทางกรรมการจะให้แผนที่ (ดาวเทียม) ที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อกำหนดขอบเขตของสนามจะต้องใช้ความรู้และทักษะวิชาแผนที่และเข็มทิศ เพื่อการวางแผนในการหาตัวปล่อยสัญญาณ ซึ่งทั้งสองคนจะไปเป็นบัดดี้ โดยจะมีระยะห่างกันได้ไม่เกิน 5 เมตร ในการแข่งขันจะพบอุปสรรค์ทางด้านภูมิประเทศ เช่น บ่อน้ำ หนาม และต้องเคารพในการตัดสินใจร่วมกันในการค้นหา โดยที่มีเวลาจำกัด โดยเวลาเฉลี่ยทีม HAM_RMUTT 124 นาที และสามารถหาแหล่งกำเนินสัญญาณได้ครบทั้งหมด ในการแข่งขันครั้งนี้ได้รับประโยชน์มากมาย ได้นำความรู้จากการศึกษาในภาควิชามาประยุกต์ใช้ในการสร้างอุปกรณ์ ได้ฝึกทักษะในการค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดภัยพิบัติ รู้จักการทำงานเป็นทีม ได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยุสื่อสารเพื่อนำไปพัฒนาอุปกรณ์

สำหรับชมรมวิทยุสมัครเล่น มทร.ธัญบุรี มีหน้าที่ในการเฝ้าฟังเหตุการณ์โดยรอบมหาวิทยาลัย และคอยช่วยงานนักศึกษา เจ้าหน้าที่ ในกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังคอยช่วยเหลือผู้ประสบเหตุต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ นอกจากนี้ทางชมรมยังเข้าร่วมการแข่งขันในรายการต่างๆ เช่น การติดต่อทางวิทยุสื่อสารระดับโลก CQ,WW VHF Contest ,กาติดต่อทางวิทยุสื่อสารระดับประเทศไทย Thailand Fieldday Contest ,กีฬาค้นหาทิศทางแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุ ARDF

HTML::image( HTML::image( HTML::image(