ศ.นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการจัดตั้งสำนักแพทยศาสตร์ มทส. เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณแพทย์ในเขตชนบทไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงอัตราบัณฑิตแพทย์กลับไปทำงานยังถิ่นบ้านเกิดลดจำนวนลง และทำงานในพื้นที่ทุรกันดารไม่ได้นาน จนกลายเป็นปัญหาขาดแคลนแพทย์ระดับประเทศ ที่แม้อาศัยระยะเวลาเป็น 10 ปี ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทางสำนักแพทยศาสตร์ มทส. จึงริเริ่มนำกระบวนการเรียนรู้แบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ในส่วนของ Mindset และ IPE มาประยุกต์ใช้ในการเตรียมบุคลากรและปฏิรูปการสอนแก่บัณฑิตแพทย์ โดยกระบวนการดังกล่าวทางสำนักวิชาแพทย์ฯ เริ่มใช้กับนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 6 เน้นให้ว่าที่บัณฑิตแพทย์เกิดการพัฒนาตนเองผ่านวิชาจิตปัญญาศึกษา วิชาชนบทศึกษา และฝึกงานกับเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์ใน จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ที่ให้นักศึกษาเรียนรู้จากสถานที่จริงควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านวิชาการ
ศ.นพ.สุกิจ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญในการสร้างแพทย์ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ คือการเปลี่ยน Mindset จากข้างในของตัวนักศึกษา ว่าจะทำอย่างไรให้เขาจบออกไปแล้วสามารถทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชนบทหรือแม้แต่ในเขตเมืองได้อย่างมีความสุข คิดถึงคนไข้มากกว่าตัวเอง คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว คิดถึงความเป็นทีมมากกว่าการเดินนำหน้าคนเดียว พร้อมนำความรู้ที่มีมาปรับใช้แก้ปัญหาได้ และกลายเป็นผู้นำชุมชนในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งเป็นระยะเวลา 6 ปี ที่ทางสำนักแพทย์ฯ ได้ทดลองปรับเปลี่ยนการสอนในรูปแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ทั้ง 6 ชั้นปี โดยใช้หลักการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ (IPE) มาใช้กับนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ชั้นปีที่ 1-3 โดยให้มาเรียนร่วมเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พบว่าเจตคติของบัณฑิตแพทย์และทันตแพทย์เปลี่ยนไป เกินกว่าร้อยละ 90 จบการศึกษาแล้วกลับไปทำงานยังท้องถิ่น พร้อมใช้ทุนรัฐบาลจนครบเวลาโดยไม่หนี นอกจากนี้ ชาวบ้านและสหวิชาชีพในสาขาอื่นๆ ที่ร่วมงานด้วยกัน ยังสะท้อนว่าบัณฑิตแพทย์ มทส.สามารถเข้ากันได้ดีกับชุมชนและเพื่อนร่วมงาน
"เพื่อให้การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ของสำนักแพทย์ฯ สามารถสร้างบัณฑิตแพทย์ที่ตอบโจทย์ปัญหาระบบสาธารณสุขของประเทศได้ตรงเป้ามากขึ้น หลังจากนี้ ทางสำนักแพทย์ฯ จะนำองค์ความรู้ด้านทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง มาปรับประยุกต์ใส่เป็นหน่วยกิตไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างชัดเจนในเร็วๆ นี้ จากเดิมที่เป็นแค่หลักสูตรเสริม" คณบดีสำนักแพทยศาสตร์ มทส. ระบุ
ผศ.ทพญ.ยุพิน ส่งไพศาล คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. ชี้แจงถึงเหตุผลการตัดสินใจเดินหน้าปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ร่วมกับสำนักแพทยศาสตร์ มทส. ว่า ทันตแพทย์ก็คือแพทย์สาขาหนึ่ง ทันตแพทย์ดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งช่องปากเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ดังนั้น ทันตแพทย์ควรทำงานร่วมกันกับแพทย์เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย และคิดว่าทันตแพทย์เองต้องมีความเป็นมนุษย์ในการดูแลผู้ป่วย ประสบการณ์ตรงที่นักศึกษาจะได้จากการเรียนรู้ร่วมกันกับนักศึกษาแพทย์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือเรียนจากสถานการณ์จริงที่เป็นอยู่จากฐานชนบทศึกษา จะทำให้นักศึกษาเกิดทัศนคติ มองเห็นคุณค่าของตัวเอง และปลูกฝังให้นักศึกษาคิดถึงประโยชน์ของคนไข้มากที่สุด นั่นคือความเป็นมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นกับทันตแพทย์รุ่นใหม่นับจากนี้
"งานของทันตแพทย์คือ อุด ถอน ใส่ ก็จะใกล้ช่างพอสมควร เวลาทำงานเลยรู้สึกว่าเราไม่ค่อยสื่อสารกับคนไข้เท่าไร แต่คนไข้กลับอยากสื่อสารกับเราเพราะอยากจะรู้ว่าถ้าป่วยแบบนี้จะรักษาอย่างไร และโรคในช่องปากเป็นโรคที่ป้องกันได้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นถ้าได้คุยกับคนไข้แล้วเข้าใจเขา บอกวิธีดูแลตัวเอง เช่น คนเป็นโรคเบาหวานจะมีความสัมพันธ์กับเหงือกอักเสบ ถ้าบุคลากรด้านสุขภาพช่วยเหลือกัน จะทำให้เบาหวานลดอาการเหงือกอักเสบก็จะลดลง เช่นเดียวกับการดูแลภาวะเหงือกอักเสบให้บรรเทาจะทำให้โรคเบาหวานดีขึ้น จะเห็นได้ว่าการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ ทันตแพทย์ และสหวิชาชีพ มีมากขึ้นทุกวัน ฉะนั้น สหวิชาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต และการสร้างให้นักศึกษาเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาจะก่อเกิดความใกล้ชิด ความเข้าใจกัน เป็นเพื่อนกัน ซึ่งดีกว่าไปทำงานเป็นเพื่อนกันหลังเรียนจบแล้ว โชคดีที่สำนักแพทยศาสตร์ มทส. ทำเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว และวิชาพื้นฐานของแพทย์และทันตแพทย์คือวิชาเดียวกัน เลยจับเรียนด้วยกันโดยไม่แยกชั้น ขอบคุณที่ให้ทางเราเป็นส่วนเสริม" คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. กล่าว
ด้าน นพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกคนที่ 2 ทันตแพทยสภา กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมบุคลากรด้านทันตกรรมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Aging Society ในอีก 4 ปีข้างหน้า (2564) รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของทันตแพทย์ไทย อาจารย์ทันตแพทย์ในหลายสถาบันเริ่มให้ความสนใจเรื่องการนำแนวคิดทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง มาปฏิรูปการเรียนการสอน แม้ยังไม่ตื่นตัวเท่ากับคณะแพทยศาสตร์ ฉะนั้น การมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในครั้งนี้ระหว่างอาจารย์ทันตแพทย์และทันตแพทย์ชุมชน จึงถือเป็นเรื่องดีต่อการยึดโยงเป็นเครือข่ายในภายหน้า
ขณะที่ นพ.สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผู้เชี่ยวชาญในการปรับกระบวนทัศน์ภายในและเน้นเรียนรู้จากสถานที่จริงเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กล่าวว่า ปัญหาด้านสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันค่อนข้างซับซ้อน และการแก้ไขโดย สธ. มักเน้นการปรับด้านโครงสร้างที่ต้องการกำลังคนด้านสุขภาพจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแม้ระบบสาธารณสุขต้องการกำลังคน แต่เรื่องคุณภาพก็ต้องมาพร้อมกัน ดังนั้น โรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่จำเป็นต้องผลิตบัณฑิตแพทย์โดยเอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้ง อย่าง มทส. พบว่ามีการดำเนินการในเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี และมีจุดแข็งเป็นด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่คิดค้นขึ้นเพื่อชุมชน ยิ่งนำเอาหลักคิดแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ที่เป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้ความเป็นคนด้วยใจอย่างใคร่ครวญยั่งยืน และเน้นการเรียนรู้จริงจากพื้นที่จริง มาปรับประยุกต์ใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ที่จะเปลี่ยนจิตใจและความคิดภายในของตัวนักศึกษา เชื่อว่าหากโรงเรียนแพทย์และสถาบันที่ผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในไทย ร่วมกับปฏิรูปการเรียนการสอนเป็นในลักษณะทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศได้
"สิ่งที่เราได้จากการฝังเรื่อง Mindset ให้นักศึกษาแพทย์ คือนักเรียนแพทย์บางคนถึงกับขอเรียนซ้ำชั้น เพราะคิดว่ายังไม่มีความรู้มากพอที่จะไปรักษาชาวบ้าน นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกินความหมาย" นพ.สรรัตน์ ชี้แจงเพิ่ม
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะกรรมการและเหรัญญิก ศสช. กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ Mindset ปรับพฤติกรรมของบัณฑิตและบุคลากรด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุขว่า บัณฑิตและบุคลากรด้านสุขภาพของประเทศไทยมีความเป็นเลิศในแง่ฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงงานวิชาการต่างๆ แต่สิ่งที่ผู้ใช้ผลผลิตต้องการนับจากนี้ คือบุคลากรด้านสุขภาพที่มี "หัวใจความเป็นมนุษย์" และเป็น "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ที่จะเข้าไปเปลี่ยนสังคมโดยเฉพาะในด้านสุขภาพได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน หรือ Mindset จะเป็นจุดเริ่มสำคัญของการเรียนรู้แบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ที่ช่วยให้การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเป็นไปได้ เพราะ Mindset สามารถสร้างวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องให้ผู้บริหารองค์กร และปรับเปลี่ยนแนวคิดการสอนของอาจารย์ผู้สอนจนถึงพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาด้านสุขภาพ โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องความเก่งแบบเดิมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบความคิดที่ติดตัวคนผู้นั้นไปตลอด ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็จะเป็นแพทย์เป็นบุคลากรด้านสุขภาพที่เน้นคิดมากกว่าทำตามตำราที่เรียนมา และสามารถทำงานอย่างมีความสุขได้ในทุกสภาพพื้นที่.
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit