รศ.ดร.คมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า หากมองย้อนไปในอดีต แม้แต่เดิมมาก็จะมีการให้วิศวกรไทยได้มีส่วนเรียนรู้จากการทำงานในโครงการใหญ่กับชาวต่างชาติที่เข้ามาก่อสร้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ประเทศไทยขาดประสิทธิภาพและล้มเหลวในการถ่ายโอน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาบุคลากรและประเทศตลอดมา เนื่องจากการถ่ายโอนทำในวงจำกัดเพียงเอกชนซึ่งยังขาดความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการเรียนการสอน การศึกษาวิจัยและเผยแพร่อย่างเป็นระบบ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ประกอบด้วยสมาชิกมหาวิทยาลัย 61 แห่งที่ดำเนินการเปิดสอนหลักสูตรคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั่วประเทศ มีความเห็นว่า การถ่ายโอนเทคโนโลยีจะต้องทำอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและความต่อเนื่องจึงจะนำไปสู่การเรียนรู้เผยแพร่อย่างยั่งยืน จึงขอเสนอให้รัฐบาลใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานหลักเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างเป็นมาตรฐานและครบวงจรด้วยการเผยแพร่ การศึกษา วิจัยพัฒนา โดยมีหลักสูตรรองรับตามกระบวนการทางวิชาการที่ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พร้อมทั้งดำเนินการเผยแพร่ถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มิใช่จบโครงการแล้วความรู้ที่จำกัดอยู่ไม่กี่องค์กรและบุคคลก็อาจเลือนจางไป หรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ อีกทั้งภาคการศึกษามีการพัฒนาหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน การศึกษาวิจัยพัฒนาต่อยอดไปสู่นวัตกรรมต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด นับเป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งไทยมีพื้นฐานและเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนชั้นนำของภูมิภาคโลกอยู่แล้ว จึงไม่ยากที่จะพัฒนานวัตกรรมด้านนี้
กรณีศึกษาความสำเร็จที่ประเทศจีนและเกาหลีสามารถถ่ายโอนเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติที่ได้ว่าจ้างก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นก็ได้นำมหาวิทยาลัยในประเทศของตนมาเป็นฐานในการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อถ่ายทอดเผยแพร่สู่บุคลากรจีนในวงกว้าง จนปัจจุบันจีนและเกาหลีได้พัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นของตนเองได้อย่างก้าวไกลและผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าความเร็วสูงของโลกในระยะเวลาอันสั้น
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายสถาบันได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมขนส่งทางรางแล้ว เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นรายแรกของประเทศไทยและอาเซียน นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นต้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเสริมการถ่ายโอนความรู้รถไฟฟ้าความเร็วสูงของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนลงสู่ฐานหลักของภาคการศึกษาเพื่อให้สามารถพัฒนาบุคลากรไทยได้ทั่วประเทศ
สรุป 6 ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการถ่ายโอนความรู้โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เพื่อหลีกเลี่ยงจุดบอดจากการลงทุนมูลค่า 1.79 แสนล้านบาท
1. ระบุในสัญญาที่จะลงนามกับรัฐบาลจีนในการถ่ายโอนความรู้ โดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานหลัก ซึ่งมีความพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ หลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน ข้อมูลวิชาการและอุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ
2. กำหนดการถ่ายโอนความรู้ และวิธีการซ่อมบำรุงของระบบรางรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ
3. สร้างศูนย์ทดสอบอุปกรณ์และเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โดยตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านรถไฟความเร็วสูงที่คงทนยาวนานและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งอาจารย์ นักวิจัยพัฒนา นักศึกษาและคนทำงาน
4. ส่งเสริมทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง
5. ในการก่อสร้างโครงการฯ ควรกำหนดสัดส่วนการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศให้มากที่สุด ทั้งระบบรางรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ
6. กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ตั้งแต่งบประมาณ การออกแบบเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง