มข.ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน

29 Sep 2017
คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค และ ศูนย์เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอีเว้นท์และอุตสาหกรรมบริการแบบครบวงจร จัดโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการ "อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) และอุตสาหกรรมบริการธุรกิจจัดงานอีเว้นท์" โครงการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอาหารและอุตสาหกรรมบริการธุรกิจจัดงานอีเว้นท์ ให้แก่ภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยว ในเขตชุมชนอำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้งการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านการนำอาหารพื้นถิ่น การเพิ่มมูลค่าและสร้างคุณค่าต่ออัตลักษณ์ด้านอาหารของท้องถิ่น โดยใช้อุตสาหกรรมบริการธุรกิจจัดงานอีเว้นท์เป็นฐาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยโครงการได้รับเกียรติจาก นายชยันต์ ศิริมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และนายวัฒนพงษ์ ชิตทรงสวัสดิ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิรชญา ชัยเกษม หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาการท่องเที่ยว และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค และ ดร.ทองรวี ศิลาน้อย ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอีเว้นท์และอุตสาหกรรมบริการแบบครบวงจร ร่วมงาน
มข.ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน

นายชยันต์ ศิริมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ในนามจังหวัดร้อยเอ็ด รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติ จากทางคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้มาให้ความรู้โครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) และอุตสาหกรรมบริการธุรกิจจัดงานอีเว้นท์ และขอชื่นชมท่านวิทยากร คณาจารย์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เข้าร่วมโครงการฯ และคณะกรรมการดำเนินงานโครงการทุกท่าน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจจัดงานโครงการ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีที่มีสาระความรู้อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประชาชนผู้สนใจ และที่สำคัญที่สุด ผู้เข้าร่วมอบรมโครงการจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารและอุตสาหกรรมบริการธุรกิจจัดงานอีเว้นท์ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชุมชนท้องถิ่น ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในชุมชนมากยิ่งขึ้น สามารถนำอาหารพื้นถิ่นที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน นำออกขายในลักษณะวิสาหกิจ ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ออกสู่ชุมชนอื่นๆได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิรชญา ชัยเกษม หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาการท่องเที่ยว และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดตั้งอยู่ตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงมีบรรยากาศของเมืองที่สงบเงียบและเรียบง่ายตามแบบฉบับของเมืองอีสาน มีการท่องเที่ยวเกี่ยวกับอารยธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และระบบนิเวศวัฒนธรรมอีสานในเขตพื้นที่ "ร้อยแก่นสารสินธุ์" โดยเฉพาะ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ดเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยปรากฏชื่อในตำนานอุรังคธาตุว่า สาเกตนคร หรือ เมืองร้อยเอ็ดประตู อันเนื่องมาจากเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรื่องโดยที่มีเมืองขึ้นจำนวนมาก การตั้งชื่อเมืองว่า "ร้อยเอ็ดประตู" หากอำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารไทยพื้นถิ่น ก็จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงรุกอีกด้านหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาอาหารควบคู่กับการท่องเที่ยว รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอาหารไทยของภาครัฐที่ขยายออกไปสู่ระดับสากลอีกด้วย

"การท่องเที่ยวเชิงอาหาร นับเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนานาประเทศ แหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนมากต่างใช้อาหารท้องถิ่นเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาเยือนแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ เนื่องจากอาหารท้องถิ่น มีความเป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบของตนเองและมีการสืบทอดต่อกันมานานนับร้อยปี ทั้งนี้ยังมีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการนำเสนออัตลักษณ์และวัฒนธรรมตามจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว อันเป็นสิ่งกระตุ้นความสนใจที่จะให้นักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นครั้งแรก เกิดความประทับใจในรสชาติของอาหารและอยากจะกลับมาเยือนอีกในครั้งต่อๆไป"

"การใช้อาหารเป็นตัวแทนในการนำเสนอชีวิตความเป็นอยู่ สังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ เป็นการบ่งบอกว่านักท่องเที่ยวได้มาแหล่งท่องเที่ยวนั้นแล้ว โดยอาหารของแต่ละพื้นที่ จะเป็นมากกว่าอาหาร ก็เพราะว่าวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อัตลักษณ์ของพื้นที่ จะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านประเภทและชนิดของอาหารนั้นๆ ซึ่งถ้าหากนักท่องเที่ยวได้มีการลิ้มรสอาหาร ได้เรียนรู้วิธีทำและลงมือทำอาหารด้วยตัวเอง จะเป็นการการสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และที่สำคัญที่สุด เป็นการสร้างความส่วนร่วมในการอนุรักษ์อัตลักษณ์ด้านอาหารพื้นถิ่น รวมทั้งเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าอาหารของท้องถิ่น เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน" หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาการท่องเที่ยวกล่าวในท้ายที่สุด

มข.ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน มข.ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน มข.ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน