“พลเอกฉัตรชัย”เยือนมอลตาประชุมร่วมถกแผนป้องทรัพยากรในมหาสมุทรทั่วโลก ย้ำจุดยืนไทยร่วมแก้ปัญหามลพิษทางทะเลด้วยแผนและยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษระยะยาว ตั้งเป้าพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง 10% ภายในปี 2573

06 Oct 2017
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเข้าร่วมการประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากรทะเล หรือ Our Ocean Conference ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 5 – 6 ตุลาคมนี้ ณ สาธารณรัฐมอลตา ว่า การประชุมดังกล่าวถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำทั่วโลกทั้งจากภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาพบกันเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาการทำประมงอย่างไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษทางทะเล ตลอดจนรับมือผลกระทบสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อทะเลและมหาสมุทร ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมีสหภาพยุโรปเป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิดหลักของงานคือ มหาสมุทรคือชีวิต หรือ "An Ocean for Life" โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แต่ละประเทศร่วมดำเนินการลดมลพิษทางทะเลการจัดการทรัพยากรทางน้ำอย่างยั่งยืนลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและตั้งเขตรักษาพันธุ์ทางทะเล

สำหรับสาระสำคัญในการสัมมนาครั้งนี้จะร่วมหารือใน 5 แนวทางร่วมกัน ได้แก่ 1. การปกป้องมหาสมุทร 2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การทำการประมงอย่างยั่งยืน 4. มลพิษทางทะเล 5. ความปลอดภัยทางทะเล 6. สภาพเศรษฐกิจสีฟ้าที่ยั่งยืน โดยแต่ละประเทศที่เข้าร่วมจะมีการให้คำมั่นที่เกี่ยวข้องในหัวข้อที่เข้าร่วม โดยจะกล่าวถึงสิ่งที่ได้กระทำอย่างเป็นรูปธรรมที่ผ่านมา รายงานผลการดำเนินการที่ผ่านมา และเป้าหมายที่จะดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อปกป้องและอนุรักษ์มหาสมุทร ซึ่งท่าทีประเทศไทยที่ได้กล่าวถ้อยแถลงในเวทีครั้งนี้ คือ ประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิรูปงานด้านประมงและแรงงานในทุกมิติ และครอบคลุมตามหลักเกณฑ์และ ข้อบังคับระหว่างประเทศ การปฏิรูปโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวกับการประมงของไทย เพื่อเป้าหมายให้มีความยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงเข้าร่วมในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างมาตรฐานแรงงานในทะเลและมั่นใจว่าแรงงานต่างด้าวจะปลอดจากความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย ที่สำคัญไทยได้นำเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าสู่กรอบนโยบายแห่งชาติของประเทศ ในด้านความยั่งยืนทางทะเล และเราใช้ปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะจับมาใช้ประโยชน์ได้ หรือ MSY เป็นฐานในการปฏิรูปการประมงและกองเรือประมง โดยสร้างระบบในการดำเนินงานด้านการควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง และการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อต่อสู้กับการประมงไอยูยูทั่วทุกน่านน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารทะเลของไทยมีความปลอดภัยและยั่งยืน ขณะเดียวกัน ไทยได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง 10% ภายในปี 2573 เช่น ประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา เขตป่าชายเลน กำหนดช่วงเวลาห้ามทำประมง เป็นต้น และมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหามลพิษทางทะเลด้วยแผนและยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษระยะยาว โดยพร้อมให้ความร่วมมือและทำงานร่วมกับทุกประเทศในการอนุรักษ์มหาสมุทร ปกป้อง ทรัพยากรทางทะเล และป้องกันปัญหามลพิษทางทะเล

"การประชุมรักษามหาสมุทรเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 โดยมีการดำเนินการไปแล้วกว่า 250 แผนงานทั่วโลก คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 8.2 พันล้านยูโร (9.2พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และได้มีการกำหนดพื้นที่ 9,900,000 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ซี่งจะส่งผลต่อการปกป้องทางทะเลและการพัฒนาเศรษฐกิจสีฟ้าอย่างยั่งยืนทั่วโลก ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้มีผู้นำจากประเทศต่างๆกล่าวสุนทรพจน์ และร่วมในพิธีเปิด อาทิ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มงกุฎราชกุมารอังกฤษ เจ้าชายอาลแบร์ที่ 2 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก นางเฟดเดอรีกา โมกรีนี ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป. นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการสิ่งแวดล้อมกิจการทางทะเล และประมง คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐมอลต้า เป็นต้น" พลเอกฉัตรชัย กล่าว