กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ประกาศใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ในวันที่ 29
สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว ให้ถือเป็นการได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติ
ฉบับใหม่นี้ จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน
นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า จากการที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ยกร่าง ขึ้นใหม่ โดยนำหลักการของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509 มาบัญญัติรวมไว้ในฉบับเดียวกัน มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 แล้ว ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยแร่ฉบับนี้ กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงทำให้พระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 นี้
โดยสาระสำคัญที่กำหนดขึ้นใหม่ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้แก่
- กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการบริหารจัดการแร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ ให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติเป็นผู้จัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ซึ่งแผนแม่บทฯ ดังกล่าว จะต้องกำหนดพื้นที่ที่ควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้ และเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ซึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด
- กำหนดให้มีการแบ่งการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท และมีการลดภาระในการขอและออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับแร่เท่าที่จำเป็น เพื่อกระจายอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้เหมาะสมกับการทำเหมืองแร่แต่ละชนิด ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาอนุญาต และเอื้อให้เกิดความคล่องตัว มีความโปร่งใสตรวจสอบได้
- กำหนดมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ที่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรแร่ให้เกิดดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด อาจได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม รวมถึงการบริการอื่น ๆ ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย
- กำหนดให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมือง การพัฒนา การใช้ประโยชน์ การเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งภายหลังการทำเหมืองและการปิดเหมือง และให้วางหลักประกันฟื้นฟูสภาพพื้นที่ทำเหมืองเพื่อเยียวยาสิ่งแวดล้อมและผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง รวมถึงจัดทำประกันภัย เพื่อรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพิ่มเติมจากการวางหลักประกัน สำหรับการทำเหมืองประเภทที่ 2 และ 3
- กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้มี ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษ นอกเหนือจากความรับผิดทางแพ่งทั่วไป และปรับเพิ่มอัตราโทษ 30 เท่าของอัตราโทษเดิม
- กำหนดหลักการการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดนโยบาย การอนุญาต และภายหลังการอนุญาต
- กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรผลประโยชน์จากการทำเหมืองสู่ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของเขตพื้นที่ตามคำขออาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาท้องถิ่นและการปรับสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว
นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยแร่ฉบับนี้ ยังมีการกำหนดชนิดแร่ที่ต้องห้าม ชนิดแร่ที่ต้องขออนุญาต รวมถึงชนิด สภาพ และปริมาณแร่ที่ต้องแจ้งการนำเข้ามาในราชอาณาจักรและส่งออกนอกราชอาณาจักร เพื่อกำกับดูแลแร่นำเข้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกำกับดูแลการส่งแร่ออก ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 100 เท่าจากกฎหมายว่าด้วยแร่ฉบับเดิม
"กพร. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำอนุบัญญัติออกตามความในกฎหมายว่าด้วยแร่ ซึ่งขณะนี้ คณะทำงานดังกล่าว ได้มีการศึกษา วิเคราะห์ และยกร่างอนุบัญญัติได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอนุบัญญัติที่เป็นเรื่องเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ก่อนวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน" นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้าย