อย่างไรก็ตาม งานเสวนา "แทรพพิสต์-1: สำรวจขอบฟ้าใหม่" จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุม S-106 อาคารบรรยายเรียนรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า จากปรากฏการณ์การค้นพบระบบดาวเคราะห์ใหม่ ขององค์การการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) อย่าง "แทรพพิสต์-1" (TRAPPIST-1) ระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) ที่มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวงเป็นครั้งแรก ซึ่งในอนาคต การศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ จะกลายเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการสำรวจวิเคราะห์ดาวดวงอื่นว่ามีสิ่งมีชีวิต หรือสภาพแวดล้อมแวดล้อมที่อาจจะมีลักษณะใกล้เคียง หรือแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับความคุ้นเคยของมนุษย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มวลมนุษยชาติ รวมถึงสังคมไทยเกิดการตื่นตัว และเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนติดตามความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวิทยาศาสตร์ในโลก ยุคศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ยังคงขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ดังกล่าว มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่ให้ความสนใจศึกษาจำนวนไม่ถึง 10 คนเท่านั้น
ด้าน ดร. กิตติพัฒน์ มาลากิจ สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ด้านฟิสิกส์พลาสมาอวกาศ กล่าวว่า จากการค้นพบระบบดาวเคราะห์ "แทรพพิสต์-1" ถือเป็นมิติใหม่ของวงการดาราศาสตร์โลก เพราะเป็นครั้งแรกที่ค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงอื่น ที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ แล้วพบดาวเคราะห์ที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับโลกอยู่เป็นจำนวนมาก และมีดาวเคราะห์อยู่ถึง 3 ดวง ที่น่าจะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมที่จะมีน้ำในสถานะของเหลวบนผิวดาวเคราะห์ได้ อีกทั้งระบบดาวเคราะห์แทรพพิสต์-1ก็ไม่ได้อยู่ไกลไปจากระบบสุริยะของเรานักเมื่อเทียบกับระบบดาวอื่นๆที่เคยเจอมา ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ก็นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในการค้นหาโลกที่ 2 ของมนุษยชาติ
ดร. กิตติพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการสำรวจพบระบบดาวเคราะห์ดังกล่าว เกิดจากการตั้งกล้องโทรทัศน์ที่มีชื่อว่า "แทรพพิสต์" (TRAPPIST) ซึ่งเป็นกล้องที่มีขนาดเล็ก ของประเทศเบลเยี่ยม ณ ประเทศชิลี เพื่อสังเกตการลดลงของความเข้มแสงของดาวฤกษ์เมื่อมีดาวเคราะห์เคลื่อนผ่าน (Transit Photometry) โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา กล้องแทรพพิสต์ สำรวจพบดาวเคราะห์เพียง 3 ดวงเท่านั้น จากนั้นหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงนาซา จึงได้ร่วมกันสำรวจดาวเคราะห์ในบริเวณที่กล้องแทรพพิศต์ค้นพบอีกครั้ง เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์ทั้ง 3 ดวง พร้อมกันนี้ ยังได้สำรวจพบว่ามีดาวเคราะห์อีก 4 ดวง ที่มีลักษณะคล้ายกับดาวพฤหัสอยู่ในระบบเดียวกัน โดยระบบดังกล่าวมีระยะห่างจากโลกเพียง 40 ปีแสง หรือ 235 ล้านล้านไมล์ ซึ่งภายหลังจากการค้นหาครั้งนี้ นักดาราศาสตร์ก็ได้ทำการสำรวจหาสภาพแวดล้อมของกลุ่มดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงอีกครั้ง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิต และองค์ประกอบสำคัญที่อาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิต อาทิ น้ำ หรือ มีเทน (CH4) และโมเลกุลอื่นๆ
นอกจากนี้ ทางนาซา ยังได้เตรียมส่งดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อทำการค้นหาระบบดาวที่ไม่ใช่ระบบสุริยะให้มากขึ้น และเพื่อสำรวจข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น ตลอดจนสามารถนำมาต่อยอดเพื่อหาคำตอบในเรื่อง การมีน้ำในสถานะของเหลวบนดาวในระบบแทรพพิสต์-1 ว่าจริงหรือไม่ อาทิ ดาวเทียมสำรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ดวงแม่ (TESS: Transiting Exoplanet Survey Satellite) ในเดือนมีนาคม 2561 ในลักษณะของการสำรวจหาดาวเคราะห์เป็นมุมกว้างที่ครอบคลุมทั่วท้องฟ้า (All sky planet survey) เพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต รวมถึงเตรียมปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) ในเดือนตุลาคม 2561 ที่มีความสามารถในการสำรวจองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ ซึ่งการศึกษาที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ อาจจะทำให้เราค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์และเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตกว่า แทรพพิสต์-1 ก็เป็นได้ ดร. กิตติพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ในส่วนของ ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ไทยที่ศึกษาเรื่องใน ดาวเคราะห์ (Exoplanet) และดวงจันทร์นอกระบบสุริยะ (Exomoon) กล่าวเสริมว่า การค้นพบระบบดาวเคราะห์แทรพพิสต์-1 ของกล้องแทรพพิสต์ ประเทศเบลเยี่ยม นำไปสู่การจุดประกายมุมมองทางความคิดในมิติใหม่ของวงการดาราศาสตร์โลก ในการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในที่ที่ไม่ใช่โลก อันจะนำไปสู่โอกาสสำคัญของมวลมนุษยชาติในการย้ายถิ่นฐานใหม่ หากพบว่าสภาพแวดล้อมของดาวเคราะห์ดังกล่าวเอื้อต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ แต่หากวิเคราะห์ถึงลักษณะและศักยภาพของกล้องแทรพพิสต์ ที่มีขนาดเล็ก และลักษณะที่ใกล้เคียงกับกล้องโทรทรรศน์ของประเทศไทย นับเป็นการสะท้อนถึงโอกาสอันสำคัญของไทยในการค้นพบระบบดาวเคราะห์อื่นๆ เช่นกัน รวมไปถึงการยกระดับการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์ของไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันกล้องโทรทัศน์ของไทย ถูกนำไปจัดตั้งอยู่ที่หอดูดาวในประเทศชิลี และประเทศจีน และยังรวมไปถึงในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ณ จังหวัดเชียงใหม่ และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาส่วนภูมิภาคในจังหวัดนครราชสีมา และ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้จัดงาน งานเสวนา "แทรพพิสต์-1: สำรวจขอบฟ้าใหม่" โดยได้เรียนเชิญนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ไทย ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) และ ดร. มณีเนตร เวชกามา นักวิชาการด้านโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ ร่วมเสวนา เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุม S-106 อาคารบรรยายเรียนรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
HTML::image( HTML::image( HTML::image(