นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ กำหนดให้ 24 มีนาคมของทุกปีเป็น วันวัณโรคสากล (World TB Day) และกำหนดหัวข้อรณรงค์ คือ "Unite to End TB" ภาษาไทย คือ "รวมพลัง ยุติ วัณโรค" หมายความว่า ร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อจะยุติปัญหาวัณโรค ซึ่งปัจจุบันวัณโรคยังคงเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของไทย และประมาณการณ์จะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 117,000 รายต่อปี เสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี และวัณโรคดื้อยาหลายขนานอาจมากถึง 4,700 รายนางศุภศรัย กล่าวต่ออีกว่า สถานการณ์ผู้ป่วยวัณโรคเขตสุขภาพที่ 10 ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และ จ.มุกดาหาร ในปี 2558 พบผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนรักษา จำนวน 4,545 ราย และผลการรักษาสำเร็จ ยังไม่ผ่านเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และมีแนวโน้มผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาเพิ่มขึ้น บ่งบอกถึงยังคงมีเชื้อวัณโรคแพร่กระจายในชุมชน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักในการป้องกันการติดเชื้อ และการดูแลรักษา
โดยในปี 2560 นี้ กรมควบคุมโรค ได้เร่งรัดดำเนินการโดยร่วมกับกรมราชทัณฑ์ คัดกรองและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในผู้ต้องขังให้มากกว่า 284,000 คน จากเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่งรวมถึงมาตรการที่จะดูแลผู้ต้องขังที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ 30,000 คนที่จะกลับสู่สังคมภายนอก โดยมีหลักการเชิงนโยบาย คือ ประชากรทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีสิทธิหรือไร้มีสิทธิมีโอกาสเข้าถึงบริการคัดกรอง ตรวจค้นหาวัณโรคและให้การรักษาจนหายขาดทุกๆราย เนื่องจากวัณโรคเป็นปัญหาสำคัญในเรือนจำมีอัตราป่วยมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 6 เท่า ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ง่าย และอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 7
ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี จึงร่วมมือ กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรและกรมราชทัณฑ์ จัดรถเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่ ตรวจสุขภาพปอดและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดยโสธร พร้อมให้บริการตรวจสุขภาพปอดและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคแบบครบวงจร รวมถึงการจัดบูธนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องวัณโรคแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ และจะดำเนินการให้ครอบคลุมเรือนจำทั้ง 6 แห่ง ในพื้นที่รับผิดชอบของเขตสุขภาพที่ 10 ภายในเดือนมีนาคมนี้
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นวัณโรค เมื่อสังเกตว่ามีอาการไข้สูง และมีอาการไอให้รีบไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นวัณโรค ให้รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังผู้อื่นต่อไป สิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือผู้ป่วยจะต้องต้องดูแลรักษาให้หายขาดโดยการกินยาอย่างต่อเนื่องประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 /นางศุภศรัย กล่าวปิดท้าย