กรมปศุสัตว์ตั้งเป้าหมายทั้งการรับรองรายเดี่ยว ที่เขียงจำหน่ายเนื้อสัตว์ในตลาดสด หรือสถานที่จำหน่ายทั่วไป และการรับรองรายกลุ่ม ทั้งที่ห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ ร้านจำหน่ายในหมู่บ้าน อาทิ ตู้หมูชุมชน
"ตู้หมูชุมชน" ที่ว่านี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยขยายโครงการปศุสัตว์ OK เข้าไปยังชุมชนต่างๆ ทั้งในหมู่บ้าน ตำบล และระดับอำเภอ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารปลอดภัยจากร้านค้าใกล้บ้าน วันนี้มีตัวอย่างของผู้ค้ารายย่อยในลักษณะของ "เถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชน" ที่เป็นฟันเฟืองหลักที่จะส่งต่ออาหารปลอดภัยนี้สู่ชาวชุมชน
เสาวณีย์ ชาวอินเอก เถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชน "ร้านเจ๊หนิงหมูสด" ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า เดิมเคยทำอาชีพเป็นตัวแทนขายประกันในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วง 5 ปีที่แล้วประกันชีวิตเป็นอาชีพที่มียอดขายดีมาก แต่ช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมายอดขายเริ่มตกและยังโดนกดดนเรื่องยอดขายจากบริษัท ทำให้ทำงานไม่มีความสุข แถมยังไม่มีเวลาให้ครอบครัว จึงพยายามหาลู่ทางเพื่อใหม่ๆ เป็นงานที่ทำอยู่กับบ้านได้ สามารถดูแลครอบครัวและลูกที่ยังเล็กอยู่ได้ด้วย
"ช่วงที่เราเริ่มท้อกับงานขายประกันเป็นช่วงเดียวกันกับที่ซีพีเอฟมีโครงการเถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชนเข้ามาในอำเภอสันป่าตอง ซึ่งตรงกับโจทย์ที่ตั้งไว้พอดีคือเป็นงานที่ทำอยู่ที่บ้านได้ จึงสนใจศึกษาโครงการทั้งเรื่องระบบการขาย การลงทุน ผลกำไร และการคืนทุน ก็เห็นว่าเขามีระบบดูแลเถ้าแก่เล็กและเป็นการพัฒนาอาชีพให้มีมาตรฐาน และช่วยให้ชาวชุมชนมีอาหารปลอดภัยใกล้บ้านสำหรับบริโภคด้วย" เสาวณีย์ บอกถึงที่มาของการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพื่อส่งต่ออาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภค กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
เสาวณีย์ เริ่มฝึกหัดตัดแต่งเนื้อหมูจนกระทั่งเริ่มเปิดร้านขายได้ ที่ผ่านมายอดขายเป็นที่น่าพอใจ และลูกค้าในชุมชนก็ให้การตอบรับที่ดี เพราะหมูที่ขายมีมาตรฐาน สด สะอาด และแช่ในตู้แช่เย็นควบคุมอุณหภูมิระหว่างรอขายตลอด คุณภาพเนื้อจึงดีและคงความสดได้ตลอดเวลา และไม่มีแมลงวันรบกวน ประกอบกับการที่ได้การรับรอง "โครงการปศุสัตว์ OK" ทำให้ลูกค้าเชื่อถือและมั่นใจในสินค้า นอกจากหมูสดแล้ว เสาวนีย์ยังหาช่องทางการขายสินค้าเพิ่ม ทั้งหมูนุ่ม หมูจุ่ม หมูจ๊อ หมูปิ้ง หมูทอด หมูยอ รวมถึงทำแคบหมูที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของเชียงใหม่ ทำให้ได้น้ำมันหมูด้วย และกำลังจะตั้งตู้เย็นชุมชนเพิ่ม เพื่อขายไส้กรอก เนื้อไก่ ไก่จ๊อ และเป็ดพะโล้ ตามความต้องการของลูกค้า ช่วยให้มียอดขายและรายได้เสริมเพิ่มขึ้นมาอีก ทำให้ปัจจุบันมีรายได้มากกว่าตอนที่เป็นตัวแทนขายประกันถึง 3 เท่า เรียกว่ามีทั้งอาชีพ รายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในครอบครัวที่อบอุ่น
ส่วน จิราพร ปัญญาเจริญดี อดีตนักบัญชีบริษัทขายวัสดุก่อสร้างชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ผันตัวเองสู้การเป็นเถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชน "ร้านน้องออยหมูสด" ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า หลังจากทำงานเป็นพนักงานบัญชีได้ 3 ปี บริษัทบอกว่าจะให้ย้ายไปทำงานที่ กรุงเทพ แต่ตนเองอยากอยู่ใกล้ครอบครัวไม่อยากห่างบ้านไปอยู่ที่อื่นจึงตัดสินใจลาออก จึงมองหาธุรกิจขายของที่สามารถทำได้ที่บ้าน และต้องเป็นธุรกิจที่แตกต่างไม่เหมือนใคร กระทั่งสามีซึ่งเป็นพนักงานขายบริษัทน้ำอัดลมลงพื้นที่สำรวจลูกค้า และได้เห็นอาชีพเถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชน จึงสนใจและสอบถามรายละเอียดเห็นว่ามีความเป็นไปได้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทันที
"เรามองว่าร้านขายเนื้อหมูของเรานำเอาทั้งเนื้อหมูปลอดภัยและนำความสะดวกมาให้กับชุมชน เราเปิดขายได้ทั้งวันเพราะร้านอยู่ที่บ้าน เพื่อนบ้านมาซื้อครั้งละเท่าไหร่เราก็ขาย ทำให้สะดวกขึ้นเพราะไม่ต้องซื้อหมูมาเก็บในตู้เย็นที่บ้าน ที่สำคัญหมูที่เราเก็บในตู้แช่ก็สดใหม่ทุกวัน มีความสะอาด ปลอดภัย ยิ่งเมื่อได้รับตราปศุสัตว์ OK ด้วยก็ยิ่งตอกย้ำคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ตอนนี้กำลังจะขยายร้านไปอีกสาขาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าในพื้นที่อื่นเพิ่มขึ้น" จิราพร บอก
เถ้าแก่เล็กทั้งสองรายนี้นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นส่งมอบอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคในชุมชน ด้วยการร่วมกันยกระดับการจำน่ายเนื้อสัตว์ ตอบสนองนโยบายภาครัฐที่เร่งพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัยในระดับสูง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit