กลุ่มอลิอันซ์ เยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เผยผลสำรวจดัชนีชี้วัดความเสี่ยง ปี 2560 จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงขององค์กรต่างๆทั่วโลกโดยแบ่งเป็นภูมิภาคตามประเภทอุตสาหกรรมและขนาดของธุรกิจ โดยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงจำนวน 1237 คน จาก 55 ประเทศทั่วโลก ระบุบริษัทต่างๆ ทั่วโลกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับ "สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่คาดเดาไม่ได้" เพราะตลาดมีความผันผวน "ภัยทางการเมือง" เช่น ลัทธิการคุ้มครองทางการค้า หรือการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น เรื่องของ "ความขัดแย้งทางดิจิทัล" ที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ และความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ รวมทั้ง "ภัยพิบัติทางธรรมชาติ" ก็เป็นประเด็นที่มีความกังวลเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาสำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับการจัดอันดับสูงสุด คือ ความสูญเสียจากการหยุดชะงักทางธุรกิจ
การหยุดชะงักทางธุรกิจ (Business Interruption) ยังคงนำลิ่วในการจัดอันดับเป็นปีที่ห้าติดต่อกัน (37% ของคำตอบ) หลักๆ สืบเนื่องมาจากการหยุดชะงักทางธุรกิจจะสามารถนำไปสู่การสูญเสียทางรายได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณเตือนใหม่ๆ หลายอย่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่ไม่ใช่ทางกายภาพหรือภัยที่จับต้องไม่ได้ อาทิ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ และการหยุดชะงักที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมือง การนัดหยุดงานและการก่อการร้าย ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากยุคของ "อินเทอร์เน็ตออฟติง" (Internet of Things) และบริษัทยังต้องเผชิญความสูญเสียทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาทิ การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ชัยชนะของทรัมป์จากการเลือกตั้ง เป็นต้น
คริส ฟิสเชอร์ เฮอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ Allianz Global Corporate & Specialty SE กล่าวว่า "บริษัททั่วโลกกำลังตกอยู่ในปีแห่งความไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้มากมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองและการตลาดทั่วโลก ท่ามกลางความเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย นอกเหนือจากภัยแบบเดิม เช่น อัคคีภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีอยู่ตลอดเวลา องค์กรธุรกิจต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่ให้เหมาะสม"
การพัฒนาและความผันผวนของตลาด (31% ของคำตอบ) เป็นภัยทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดลำดับที่สองในปี 2560 และยังเป็นความกังวลสูงสุดในธุรกิจการบินและการป้องกันประเทศ ธุรกิจให้บริการทางการเงิน ธุรกิจขนส่งและการจัดส่งสินค้าทางทะเล ตลอดจนธุรกิจที่อยู่ในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง ดังนั้น บริษัทต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์ทางการเมืองและการกำหนดนโยบายทั่วโลก เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในด้านกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดต่างๆ และสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามข้อมูลของบริษัทประกันเครดิต ออยเลอร์ เฮอร์เมส (Euler Hermes) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทภายใต้กลุ่มอลิอันซ์ ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2557 มีอุปสรรคทางการค้าใหม่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นประจำทุกปีราว 600-700 รายการ
ปัจจุบันทุกๆธุรกิจหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีกันมากขึ้น ในขณะที่ดิจิทัลนำโอกาสใหม่ๆมาให้กับธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านสินทรัพย์จากสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ไปเป็น สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น นำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ๆ โดยจากการสำรวจ ภัยด้านไซเบอร์เป็นภัยธุรกิจอันดับที่ 3 โลก และเป็นอันดับที่ 2 ในทวีปอเมริกาและยุโรป และมีความเสี่ยงอันดับสูงสุดในเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้และ สหราชอาณาจักร ในเวลาเดียวกันก็เป็นความกังวลลำดับต้นๆ ของโลกสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคม และภาคการค้าส่งและค้าปลีก
ภัยคุกคามในปัจจุบันนี้ไปไกลเกินกว่าการเจาะข้อมูล และการละเมิดข้อมูลความเป็นส่วนตัว แม้ว่ากฎหมายใหม่ในการป้องกันข้อมูลจะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ออกจากธุรกิจ ล่าสุดมีการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลใหม่ทั่วยุโรปในปี 2561 (General Data Protection Regulation) ถึงแม้บริษัทต่างๆจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่บทลงโทษนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ในขณะเดียวกันการเพิ่มการเชื่อมต่อและความซับซ้อนของการโจมตีในโลกไซเบอร์ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมหาศาลโดยตรงต่อบริษัท แต่ยังมีความเสี่ยงทางอ้อมผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ระบบไอที ระบบประปา หรือระบบไฟฟ้า ต่อจากนั้น ก็มีภัยคุกคามจากความล้มเหลวทางด้านเทคนิค หรือข้อผิดพลาดของพนักงานซึ่งสามารถนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักทางธุรกิจ(Business Interruption)
ในยุคดิจิตอลหรือยุค 4.0 ความล้มเหลวในการส่งหรือตีความข้อมูลที่ถูกต้องอาจนำไปสู่การหยุดชะงักทางธุรกิจได้ บริษัทจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลที่ถือเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า บริษัทขนาดเล็กอาจจะมีการประเมินความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ต่ำไป โดยบริษัทขนาดเล็กนี้ (รายได้น้อยกว่า 250 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 9.4 พันล้านบาท) จัดอันดับความเสี่ยงในโลกไซเบอร์อยู่ในอันดับที่ 6 เท่านั้น ซึ่งในความจริงแล้วความผิดพลาดรุนแรงเพียงครั้งเดียวในโลกดิจิทัล อาจสร้างความเสียหายให้กับบริษัทขนาดนี้อย่างยิ่งยวด
ภัยพิบัติธรรมชาติ ถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจ ในอันดับที่ 4 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น (24% และ 6% ของคำตอบตามลำดับ) ยังคงอยู่ในความกังวลอันดับต้นๆของธุรกิจ โดยเฉพาะในเอเชียที่เกิดภัยพิบัติที่มีการสูญเสียมากที่สุดในโลก ในปี 2559เช่น แผ่นดินไหวที่คุมาโมโตะ (ญี่ปุ่น) ภัยพิบัติธรรมชาติอยู่ในอันดับที่เป็นกังวลสูงสุดในญี่ปุ่นและฮ่องกง โดยในระดับโลก ธุรกิจด้านวิศวกรรม และรับเหมาก่อสร้าง มีความกังวัลในประเด็นนี้สูงที่สุด
แอ็กเซิล เธอิส กรรมการบริหาร กลุ่ม อลิอันซ์ กล่าวว่า "ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความกังวลให้กับลูกค้าและสังคมของเราได้เสมอ" และ "เราคาดการณ์ว่าภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ความเสียหายจากคลื่นความร้อนและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นงานของเราในฐานะบริษัทประกันในการพัฒนาโซลูชันส์เพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้และป้องกันและแผนประกันภัยแบบคุ้มครองร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรภาครัฐ"10 อันดับความเสี่ยงทางธุรกิจ ปี 2017 ปี 2017 ปี 2016
1 การหยุดชะงักทางธุรกิจ 37% 1 (38%)
2 การพัฒนาและความผันผวนของตลาด 31% 2 (34%)
3 ภัยด้านไซเบอร์ 30% 3 (28%)
4 ภัยพิบัติธรรมชาติ 24% 4 (24%)
5 การเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและกฎระเบียบ 24% 5 (24%)
6 ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค 22% 6 (22%)
7 ไฟไหม้ ระเบิด 16% 8 (16%)
8 การก่อการร้าย และภัยคุกคามทางการเมือง 14% 9 (11%)
9 การเสียภาพลักษณ์และการด้อยค่าลงของแบรนด์ 13% 7 (18%)
10 การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ 12% 11 (10%) • ที่มา : Allianz Risk Barometer 2017• อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 1 ยูโร = 37.7364 บาท
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit