สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จับมือมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ เดินหน้าโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันการศึกษา ภายใต้กิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่ 1. จัดตั้งหน่วยงานร่วมระหว่าง สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ในประเทศไทย 2. เปิดสอนหลักสูตรร่วม (Dual-degree programs) 3. จัดทำโครงการวิจัยร่วมเพื่อตอบปัญหาของประเทศ (Collaborative Research) และ 4. แลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัยเพื่อพัฒนทักษะ (Faculty Exchange) เชื่อมั่นตลอดระยะเวลาดำเนินการจะช่วยยกระดับในทุกภาคส่วนไม่เฉพาะด้านการศึกษา แต่ยังรวมไปถึงด้านธุรกิจ การเงิน การบริการ และเกษตรกรรม ได้อย่างยั่งยืนสอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผลักดันให้ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติ เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) หรือการผลิตขั้นสูงที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันภัยไซเบอร์ตั้งรับอาชญกรรมออนไลน์ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า โครงการสร้างความร่วมมือระหว่าง สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ มีเป้าหมายในการสร้างบุคลากรและนักศึกษาในประเทศไทยให้คุณภาพมากขึ้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรมให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืนภายใน 5 ปี ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยในระยะเริ่มต้นความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบัน จะเกิดขึ้นภายใต้กิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดตั้งหน่วยงานร่วมระหว่าง สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทย: โดยสำนักงานทั้งสองแห่งจะช่วยให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของสถาบันการศึกษาไทยที่ได้รับเกียรติ จากสถาบันการศึกษาชั้นนำอันดับต้นๆ ของโลกเข้ามาตั้งหน่วยงาน อันเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการศึกษาไทย ช่วยให้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทย ภาคเอกชน และบริษัทนานาชาติ รวมถึงทำให้งานวิจัยและนวัตกรรมของไทยก้าวสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น
2. การเปิดสอนหลักสูตรร่วม (Dual-degree programs): โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการและมาตรฐานเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เรียนจะได้รับปริญญาเหมือนกับเรียนที่สหรัฐอเมริกา แบ่งเป็นระดับปริญญาโท 2 ปี ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical and Computer Engineering) โดยเรียนในไทย 1 ปี และที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี เพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชนให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาดโลกภายในระยะเวลา 2-3 ปี และระดับปริญญาเอก 5 ปี ในสาขาเดียวกัน โดยเรียนในไทย 2 ปี และที่สหรัฐอเมริกา 3 ปี เพื่อมุ่งเน้นคุณภาพของนักศึกษาและอาจารย์ให้เทียบเท่าระดับสากล ซึ่งการใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการเรียนการสอนที่สหรัฐอเมริกาเป็นการดึงดูด นักศึกษาและนักวิจัยที่มีความสามารถจากในประเทศและภูมิภาคอาเซียน เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์งานวิจัยที่สอดคล้องกับปัญหาและสภาพแวดล้อมของไทย รวมทั้งริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลภายใน 5-10 ปี ทำให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีของตนเอง และก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำของภูมิภาค
3. การจัดทำโครงการวิจัยร่วมเพื่อตอบปัญหาของประเทศ (Collaborative Research): โดยโครงการวิจัยทุกโครงการจะมีการใช้อาจารย์หรือนักวิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และภาคเอกชน เป็นเครือข่ายนักวิจัยและถ่ายทอดความรู้การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย
4. การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัยเพื่อพัฒนทักษะ (Faculty Exchange): พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานงานวิจัยไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลก พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นศูนย์กลาง ด้านการวิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติ ในการเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) หรือการผลิตขั้นสูงที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สจล. และ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในช่วงเดือน ต.ค. 2560 จะเริ่มประกาศรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกรุ่นแรก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดทำการเรียนการสอนในช่วงเดือน ส.ค. 2561 ขณะที่แผนระยะยาว ได้กำหนดกรอบระยะเวลาความร่วมมือตลอดโครงการ 10 ปี โดยวางเป้าหมายผลผลิตที่วงการศึกษาไทยและประเทศชาติจะได้รับ แบ่งเป็นผลิตนักศึกษาปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า 80 คน ผลิตนักศึกษาปริญญาโทไม่ต่ำกว่า 200 คน ยกระดับคุณภาพอาจารย์และนักวิจัยไทยให้มีมาตรฐานระดับโลกไม่ต่ำกว่า 80 คน สร้างโครงการวิจัยเพื่อต่อยอดเป็นวัตกรรมหรือมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ไม่ต่ำกว่า 80 โครงการ และสร้างแพลตฟอร์มและเครือข่ายให้อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และบริษัทในประเทศไทย ได้เข้ามาเพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับอาจารย์และนักวิจัยด้านเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมทั่วประเทศมากกว่า 6,000 คน
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการความร่วมมือ จะช่วยยกระดับความรู้และทักษะแห่งโลกยุคใหม่ในทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะด้านการศึกษาแต่ยังรวมไปถึงด้านการให้บริการและธุรกิจดิจิทัล ด้านบริการทางการแพทย์และคุณภาพชีวิต ด้านพลังงานทางเลือก ด้านโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง ด้านหุ่นยนต์สมองกลฝังตัวและการควบคุมจักรกลอัตโนมัติ ซึ่งสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้ง 10 ยุทธศาสตร์ อาทิ ยุทธศาสตร์ที่ 2 โดยการพัฒนาวิจัยร่วมการนำเทคโนโลยีมาช่วยกระจายบริการพื้นฐาน เช่น การแพทย์และสาธารณสุข ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างงานวิจัยของเราเองเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไทยแลนด์ 4.0 ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนางานวิจัยร่วมด้านความปลอดภัยไซเบอร์ และยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนางานวิจัยร่วมด้าน Smart City ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่ทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ ทั้งในไทยและระดับโลกกำลังขับเคลื่อนสู่แนวทางดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง
"ความพยายามในการสร้างความร่วมมือระหว่าง สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการศึกษาไทย เพราะนอกจากผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ดังนั้นการพัฒนาระบบเพื่อป้องกันและตั้งรับอาชญกรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 5 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ถือเป็นภารกิจสำคัญที่สถาบันการศึกษาไทย ต้องเร่งวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เท่าทัน ซึ่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนนั้นถือเป็นสถาบันการศึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านนี้ โดยล่าสุดในปีที่ผ่านมาเพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการคิดค้น Mayhem ระบบค้นหาช่องโหว่และป้องกันภัยคุกคามอัจฉริยะ ในการแข่งขัน Darpa's Cyber Grand Challengeการแข่งแฮ็คและป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ระดับโลก โดยทีมคณาจารย์และนักศึกษาที่เข้าแข่งขันได้รับการจัดอันดับ ให้เป็นเบอร์หนึ่งของโลกในด้านนี้ด้วยเช่นกัน ความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีจากของสถาบันการศึกษาไทยในการเพิ่มพูนความรู้ เพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ภายในประเทศ" อธิการบดี สจล. กล่าว
ด้าน ศ.เจมส์ การ์เร็ต คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก และมีความมุ่งมั่นในการสร้างองค์ความรู้เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์ ซึ่งโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ได้ขยายสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในลักษณะการจัดตั้งหน่วยงานและเปิดหลักสูตรร่วมมาตรฐานเดียวกับสหรัฐอเมริกา จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวกับประเทศโปรตุเกส และสามารถผลักดันให้เกิดธุรกิจ Startups จำนวนมาก รวมทั้งพัฒนางานวิจัยร่วมกันมากกว่า 30 โครงการ เหตุผลสำคัญที่เลือกดำเนินโครงการความร่วมมือกับ สจล. เนื่องจากเห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารและคณาจารย์ ที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านที่สองสถาบันมีความเชี่ยวชาญ โดยเริ่มต้นจากการตั้งหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เนื่องจากเป็นรูปแบบการสอนที่มีความชัดเจน และสามารถขยายผลจากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ได้จริง เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งส่วนตัวเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยว่าจะสามารถทำได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ต้องให้ตอบโจทย์กับความต้องการของคนส่วนใหญ่ ซึ่งหลักการสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต และใช้นวัตกรรมช่วยกระจายสินค้าและผลิตภัณพ์ให้ทั่วถึงภายใต้ราคาที่จับต้องได้
ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำถึงความสำคัญในการเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลก เข้ามาพัฒนาหลักสูตรและเปิดทำการเรียนการสอนในประเทศไทย ระบุว่าการมีกฎหมายเปิดช่องทางให้มหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาร่วมพัฒนาการศึกษาไทย โดยล่าสุดการใช้ ม.44 ถือเป็นก้าวสำคัญในการทะลายข้อกำจัดต่างๆ ที่ฉุดรั้งการพัฒนาระบบการศึกษาไทย ให้ก้าวไปสู่มาตรฐานในระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนเริ่มต้นจากการลงทุนพัฒนาทักษะบุคลากรในประเทศ การสร้างบรรยากาศการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรม และการมีระบบทางการเงินที่มั่นคงและแข็งแรง
ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้จัดงาน Dinner Talk เพื่อพูดคุยถึงแนวทางพัฒนาการศึกษาไทย "ด้านภารกิจการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระดับอุดมศึกษา เพื่อก้าวกระโดดสู่ ประเทศไทย 4.0" (A Leap Forward in Bridging Higher Education, Research and Innovation for Thailand 4.0) ณ โรงแรมเดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท ซึ่งได้รับเกียรติจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารหน่วยงานรัฐด้านเศรษฐกิจ พร้อมด้วยตัวแทนจากภาคเอกชนระดับโลก อาทิ PTT SCG และ Thaibev ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะผลักดันภารกิจดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit