เพราะผลลัพธ์จากการทำโครงการเพาะเห็ดเพาะใจสานสายใยชุมชนในปีที่ผ่านมา ล้มเหลวไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงอยากแก้มือและขอโอกาสสร้างวงจรการเรียนรู้รอบใหม่ให้ตนเองอีกครั้ง โดยมอง"ทุกข์และทุนชุมชน"เป็นตัวตั้ง จากโจทย์บ้านหนองมะเกลือ ต.โนนค้อ อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ประสบปัญหาขยะ โดยเฉพาะ "ขวดน้ำ"ถูกทิ้งเกลื่อน เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังช่วงฝนตกหนัก เนื่องจากขวดน้ำเข้าไปอุดตันทางน้ำไหลในท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำระบายไม่ทัน
เมื่อพี่ ๆ จากโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) ชักชวนให้ทำกิจกรรมในปีที่ 2 ทีมงานเยาชนบ้านหนองมะเกลือซึ่งประกอบด้วยแกนนำหลัก จุ๋ม-จารุวรรณ เนตรนิจ อิ๋ง-วนิดา เทนโสภา นิก-ชนิดา เทนสุนา นุ่น-บุษกร เสนคำสอน แพรว-ธิญาดา คงราช และ ปรางค์-ธิติมา ป้องกัน ทั้งทีมไม่รีรอที่จะตอบรับเข้าร่วมโครงการ ในครั้งนี้ทั้ง 6 คนคิดโจทย์ด้วยการนำปัญหาขยะในชุมชนเป็นตัวตั้ง "ขวดน้ำพลาสติกนำไปทำอะไร ได้บ้าง?"แล้วลงมือค้นคว้าข้อมูลเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาจากอินเทอร์เน็ต จนพบคำตอบที่น่าสนใจว่า ขวดน้ำพลาสติกที่ไร้ค่า สามารถนำมาทำเป็นคอนโดให้"กบ"อาศัยอยู่ได้ จึงเป็นที่มาของ "โครงการกบสร้างพลังสามัคคีชีวิตพอเพียง"
จุ๋ม เล่าต่อว่า เมื่อโจทย์โครงการชัด ทีมงานจึงร่วมกันวางเป้าหมายหลักไว้ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ 1. ลดปริมาณขยะขวดพลาสติกในชุมชน 2. ดึงเด็กและเยาวชนในโรงเรียนมาทำโครงการร่วมกัน เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และ 3. รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงกบแบบคอนโด เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน
บทเรียนจากการทำโครงการปีที่แล้ว ทำให้ทีมงานต้องวางเป้าหมายและแผนการทำ โครงการใหม่ให้ชัดเจน โดยดูสภาพแวดล้อมและหาข้อมูลประกอบ ทั้งนี้กระบวนการทำงานเริ่มต้นขึ้นด้วยการ ประชาสัมพันธ์โครงการให้นักเรียนในโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ รับรู้ผ่านเสียงตามสาย เพื่อหาแนวร่วม พร้อมลงพื้นที่สำรวจปริมาณขวดน้ำในชุมชน จากนั้นจึงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงกบจากผู้รู้ในชุมชน ทั้งวิธีการเลี้ยง ขนาดของบ่อที่ใช้อนุบาลกบ การดูแลกบ ทั้งการให้อาหาร การเปลี่ยนน้ำ และระยะเวลาที่ใช้ในการเลี้ยงกบแต่ละช่วงวัย ซึ่งการเก็บข้อมูล แต่ละครั้ง อิ๋ง ปรางค์ และนุ่น รับหน้าที่เป็นผู้ถาม นิกและแพรว ทำหน้าที่จดบันทึกข้อมูล ส่วนจุ๋มจะช่วยดูภาพรวมของการทำงานทั้งหมด เมื่อได้ความรู้แล้วจึงเข้าสู่การลงมือเลี้ยงกบ
ทีมงานบอกว่า พวกเขาตั้งใจลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้มากกว่า 2 คน แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน เพื่อปรับวิธีการเลี้ยงให้เหมาะสมกับศักยภาพของตัวเองมากที่สุด เมื่อสำรวจจนได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และพบว่า ก่อนนำกบไปเลี้ยงในคอนโดขวดพลาสติก ต้องอนุบาลลูกอ๊อดให้ครบ 15 วันก่อน ทีมงานจึงเร่งหาพื้นที่เลี้ยงลูกอ๊อด ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากลุงแน่น เทนโสภา ผู้ใหญ่ใจดี ที่อนุญาตให้ทีมงานเข้ามาใช้ที่ดินสำหรับขุดบ่อเลี้ยงกบบ่อแรก
ลุงแน่น บอกว่า เขาเคยศึกษาดูงานเรื่องกบจึงมีความรู้เรื่องการเลี้ยงกบอยู่บ้าง เมื่อกลุ่มเยาวชนสนใจเข้ามาเรียนรู้ จึงอยากเผยแพร่ความรู้ให้ขยายออกไป โดยเขายินดีให้ความช่วยเหลือหากเป็นกิจกรรมที่ เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเยาวชน เพราะมีพื้นที่อยู่แล้ว ทั้งยังมีสาธารณูปโภคน้ำและไฟพร้อม สามารถขุดบ่อใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม การขุดบ่อใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น ลุงแน่นบอกว่า ขนาดของบ่อที่ขุดไม่ควรกว้างหรือลึกเกินไป ขนาดที่พอเหมาะคือกว้าง 1.25 เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 0.3 เมตร จากนั้นทีมงานจึงนำลูกอ๊อดมาเลี้ยงในบ่อ แล้วแบ่งเวรให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนไปเรียนและหลังเลิกเรียน
สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงกบคอนโด จุ๋มเล่าว่า นำขวดน้ำพลาสติกที่เก็บมาได้ขนาด 1.5 ลิตร เจาะรูตรงคอขวด จากนั้นนำขวดน้ำพลาสติกขนาด 550 มิลลิลิตร ตัดตรงคอขวดให้ได้รูปกรวย แล้วนำมาเสียบตรงขวดใหญ่ที่เจาะรูไว้แล้ว เพื่อทำเป็นช่องหายใจและให้อาหารกบ จากนั้นเมื่อลูกกบในบ่ออนุบาลอายุ 1-2 เดือน นำมาใส่ในขวดพลาสติก ขวดละ 1 ตัว ใส่น้ำระดับคางกบ ปิดฝาให้แน่นแล้วนำไปวางบนชั้น โดยวางให้อยู่ในลักษณะที่เอียง ให้อาหารอย่างพอเหมาะวันละ 2 มื้อ เช้าและเย็น ส่วนการถ่ายเปลี่ยนน้ำในขวดต้องเปลี่ยน 2 วัน/ครั้ง ด้วยการเปิดฝาเทน้ำทิ้งแล้วเปลี่ยนน้ำเข้าไปใหม่ หลังจากที่เลี้ยงไว้ประมาณ 3 เดือน ตัดขวดพลาสติกแล้วจับกบไปชั่งขาย
ทั้งนี้ การเลี้ยงกบคอนโดถือเป็นการเลี้ยงรูปแบบใหม่สำหรับคนที่ไม่มีพื้นที่กว้างมากนัก เพราะกบคอนโดขวดสามารถทำความสะอาดง่าย ประหยัดน้ำ อาหาร และลดค่าใช้จ่าย โดยไม่มีศัตรูหรือสัตว์เข้าไปรบกวน ทำให้กบสะอาด แข็งแรง ขายได้ราคาดี และจะมีสีสวยกว่าการเลี้ยงในบ่อ
ทีมงานสะท้อนว่า การเลี้ยงกบมีข้อจำกัดตรงที่กบเป็นสัตว์ตัวเล็กที่ต้องเอาใจใส่เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารที่ต้องตรงเวลา หรือเวลาให้อาหารกบต้องล้างมือให้สะอาด มือห้ามติดแป้ง เพราะส่วนผสมของแป้งที่เจือปนลงไปจะทำให้กบไม่กินอาหาร กบไม่ชอบเสียงดัง ขณะเดียวกันการดูแลกบในบ่ออนุบาลจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยมีทีมงานรุ่นพี่เป็นตัวหลักในการสอนน้องๆ เพื่อให้มีทักษะในการเลี้ยงกบด้วย เช่น การเฝ้าระวังสัตว์มีพิษจำพวกงู การแยกขนาดกบทุก 2 อาทิตย์ เพื่อป้องกันกบตัวใหญ่กินกบตัวเล็ก เป็นต้น
สกุลรัตน์ เทนโสภา พี่เลี้ยงชุมชน เสริมว่า การเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ของกลุ่มเยาวชนบ้านหนองมะเกลือ ถือเป็นการฝึกเด็กและเยาวชนให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และสามารถทำงานเป็นทีม รวมทั้งเยาวชนจะได้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงกบซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพเสริมได้ในอนาคต
ขณะเดียวกันการสนับสนุนให้รุ่นพี่รุ่นน้องทำงานด้วยกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่รุ่นพี่ได้สอนน้องงาน เพราะถ้าหากมีการฝึกเฉพาะแค่แกนนำ คนที่ได้ความรู้ได้ฝึกทักษะก็มีแค่แกนนำเท่านั้น หากแกนนำรุ่นแรกออกไปน้องๆในโรงเรียนจะได้สานต่อการทำงาน
เมื่อถามถึงขั้นตอนที่ยากที่สุด ทีมงานเล่าว่า การเปลี่ยนน้ำให้กบในคอนโดเป็นขั้นตอนที่น่าขยะแขยงที่สุด เพราะถ้าลืมเปลี่ยนน้ำ บางครั้งเจอกบตายเป็นหนอนอยู่ในขวด ส่งกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งไปทั่ว แต่ไม่เคยท้อ เพื่อรอวันที่กบโตพอที่จะนำไปขายได้ ซึ่งทุกคนยอมรับว่ารู้สึกตื่นเต้น และเมื่อเลี้ยงสักระยะแล้วพี่เลี้ยงชุมชนแนะนำให้ทีมงานนำกบไปเลี้ยงต่อที่บ้าน ๆ ละ 50 ตัวเพื่อให้ผู้ปกครองได้รับรู้ถึงสิ่งที่กลุ่มเยาวชนทำ และเป็นการขยายผลและองค์ความรู้ในการเลี้ยงกบให้เป็นอาชีพเสริมไปยังครอบครัวของทีมงานและคนในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม การแปรรูปขวดพลาสติกเหลือทิ้งให้กลายเป็นคอนโดกบถือเป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการลดขยะในชุมชน เพราะนอกจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับทีมงานในด้านความรับผิดชอบในหน้าที่ องค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงกบแล้ว ยังขยายผลไปถึงครอบครัวและชุมชนสำหรับการมีรายได้เสริม ถือเป็นการสร้างต้นแบบชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเกิดความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนในชุมชนอีกด้วย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit