เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประกาศจับมือพันธมิตรในจีน"Shenzen Growatt New Energy Technology" และในไต้หวัน "Amita Technologies" พร้อมจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในไทย มุ่งเน้นนวัตกรรมด้านพลังงาน และเทคโนโลยีอันทันสมัย ที่เพิ่มเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ลดการนำเข้า สร้างการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ หนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 เพื่อให้เกิดการลงทุน และการสร้างการผลิตในประเทศ รวมถึงการสร้างรายได้จากสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน ตลอดจนสามารถลดการนำเข้าสินค้าได้ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของสภาอุตสาหกรรมฯ ในวาระปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมไปยัง First S-Curve คือ การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิต และ New S-Curve โดยการเติมอุตสาหกรรมอนาคต ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งภาครัฐเองก็ได้มีนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมไปถึงข้อตกลงความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่นๆ อาทิ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต S-curve และ New-S-curve ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากที่สุดบนพื้นฐานของประเทศ โดยจะเน้นไปในอุตสาหกรรมใหม่ๆ และเป้าหมายหนึ่งในนั้นคือ Energy Storage
นายเจนฯ กล่าวว่า สำหรับคำว่า Energy Storage อาจจะเป็นคำใหม่สำหรับประเทศไทย และเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสามารถต่อยอดมาจากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับรถยนต์ หรือแบตเตอรี่ตะกั่วกรด (lead acid battery)ที่เป็นที่รู้จักและสามารถเข้าใจได้ทันที ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าการผลิตและจำหน่าย จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ในปี2557 และเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย แต่มีมูลค่าการค้าที่มีนัยยะพอสมควร ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า และระบบการกักเก็บพลังงานของประเทศ Energy Storage จึงได้รับความสนใจ และได้รับมาตรการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage)และการสนับสนุนการลงทุนจาก BOI ดังนั้น หากมีการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเต็มระบบ คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ว่าจะมีมูลค่ามากขึ้นถึง 10 เท่า และมีขนาดตลาดประมาณ 5 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยที่มีประมาณ 5 หมื่นล้านบาทจะสามารถสร้าง GDP ในสัดส่วน ร้อยละ 3.6 ของGDP ประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดการนำเข้า และสร้างการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ
"ในบันทึกความร่วมมือนี้ จะเน้นไปในด้านการส่งเสริมและสนับสนุน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมในประเทศ ทางด้านพลังงาน เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยลดการนำเข้า และสร้างการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ทั้งนี้ จะเริ่มจากโครงการที่มีความพร้อม 3 ด้านคือ ด้านเทคโนโลยี ด้านเงินลงทุน และด้านบุคลากร ทั้งนี้ ส.อ.ท.และ กนอ. มีความเห็นพ้องกันที่จะเริ่มต้นโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดเป็นอันดับต้น เพื่อให้เกิดการลงทุนและการสร้างการผลิตในไทย เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญจะเป็นการสร้างรายได้ จากสินค้าที่ผลิตในประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน และลดการนำเข้าทำให้รายได้ประชาชาติสูงขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งโครงการที่จะเร่งรัดให้เกิดขึ้นภายในปี 2562" นายเจน กล่าว
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยจัดพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมออกสู่การลงทุนจำนวน 3.08 ล้านล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการ 4,446 ราย การจ้างงานกว่า 600,000 ตำแหน่ง
นายวีรพงศ์ฯ กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากแนวคิดในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามโมเดลการพัฒนาประเทศไทย4.0 โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economics Corridor Development (EEC) และนโยบายเศรษฐกิจและทิศทางการพัฒนาประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 แผน 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) มุ่งเน้นอุตสาหกรรมไปยัง First S-Curve อุตสาหกรรมNew S-Curve และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงเห็นความสำคัญต่อการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคเอกชนในการประสานนโยบายและดำเนินการกับภาครัฐ อันจะเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จร่วมกันในการพัฒนาประเทศ และเพื่อวางรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรม First S-Curve อุตสาหกรรม New S-Curve และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กนอ. ร่วมกับ ส.อ.ท. จึงได้คัดเลือกโครงการเป้าหมายที่มีความสำเร็จสูง (Quick Win Project) ซึ่งเป็นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curveและ First S-Curve เป็นโครงการนำร่องโดยเริ่มต้นจาก "อุตสาหกรรมสำรองไฟฟ้า" Energy Storage ซึ่งมีอุตสาหกรรมหลักในตลาดรองรับ คือ
1. ระบบสำรองไฟฟ้า Energy Storage สำหรับระบบกักเก็บไฟฟ้าของประเทศ Generation Unit และ Distribution รวมถึงระบบกับเก็บพลังงานของพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เพื่อความเสถียรของระบบไฟฟ้าของประเทศ และใช้ในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (Cut Peak)
2. ระบบสำรองไฟฟ้า Energy Storage ใช้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าประเภท Hybrid Electric Vehicle (HEV), Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) Battery Electric Vehicle (BEV) และอื่นๆ
3. ระบบสำรองไฟฟ้า Energy Storage สำหรับอุตสาหกรรมประเภทอุปกรณ์สำหรับ ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สำหรับโทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ
"การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมไทย 4.0 และพัฒนาประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 ต่อไป" นายวีรพงศ์ฯ กล่าว
ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า ถือเป็นมิติใหม่ และเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย ในการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เป็นผู้เสนอแนวคิดในการพัฒนาและรัฐบาลพร้อมเดินหน้าสนับสนุน ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมและจะจับมือกับบริษัท Shenzen Growatt New Energy Technology Co., Ltd. ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ในจีน และ บริษัท Amita Technologies Inc. ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ในไต้หวัน เพื่อจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในไทย โดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมั่นใจว่าอุตสาหกรรมระบบสำรองไฟฟ้า หรือ Energy Storage (Lithium Ion Battery) ที่บริษัทลงทุนนี้ จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าของประเทศ และรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนระบบสำรองไฟฟ้าอื่นๆ พร้อมทั้งจะช่วยสร้างรายได้ และก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น