การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง ร่วมกับบริษัท กรีนพาราวู้ด จำกัด หารือการบริหารจัดการไม้ยางพารา มุ่งเน้นสร้างมาตรฐานการซื้อขายไม้ยางในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรมทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย วางเป้าหมายโค่นยางปีละกว่า 400,000 ไร่ นำร่องพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางเดิมของประเทศ
นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ ประธานในการประชุมหารือครั้งนี้ เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดทำโครงการบริหารจัดการไม้ยางพารา ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการธุรกิจไม้ยางพารา และเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยาง สามารถขายไม้ยางพาราได้ในราคาที่เหมาะสมและยุติธรรม เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องโค่นยาง เพื่อดำเนินการปลูกแทนใหม่จะประสบกับปัญหาการขายไม้ยางเป็นอย่างมาก ทั้งการถูกผูกขาดจากผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย การถูกกดราคา การรับซื้อแต่ไม่หมดทุกส่วน เช่น ราก ทำให้เกษตรกรต้องจ้างทำลาย การไม่รับผิดชอบในการดำเนินการตามสัญญา หรือแม้กระทั่งการยกเลิกสัญญาโดยไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ เป็นต้น ซึ่งไม้ยางพาราเป็นไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายในการนำไปแปรรูป และส่งออก สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการโรงไม้ต่างๆ ได้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ กยท. จึงได้หารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อสร้างมาตรฐานในการซื้อขายไม้ยาง มีราคากลางที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย จะสร้างความเป็นธรรมทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
นายธีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การหารือในครั้งนี้ เป็นเพียงระยะเริ่มต้นร่วมกับบริษัทที่สนใจ โดย กยท.มีเป้าหมายในการโค่นยางปีละ 400,000 ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัดที่อยู๋ในความดูแลของการยางแห่งประเทศไทยภาคใต้ตอนล่างครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งในปี 2560 มีเป้าหมายการโค่นยางประมาณ 102,800 ไร่ ฉะนั้น หากสามารถร่วมกันบริหารจัดการไม้ยางพาราได้ จะช่วยสร้างมูลค่าให้ทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการธุรกิจไม้ยางพารา โดยในระยะต่อไป คาดว่าจะมีการทำข้อตกลงร่วมกับสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย เพื่อเชิญชวนสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบการของสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทยเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ร่วมกันพัฒนาตลาดไม้ยางพาราทั้งระบบและยกระดับราคาไม้ยางให้สูงขึ้น สร้างความยุติธรรมและพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit