ทว่า กว่าจะได้มาซึ่งประทีปร่วมหมื่นดวง เบื้องหลังคือการทำงานอย่างหนักของเหล่าจิตอาสา ผู้ทุ่มเทและอุทิศตนปิดทองหลังพระ โดยมี "ผอ.หมู" หรือ นายโอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม เป็นหัวเรือใหญ่ และทูตวัฒนธรรมอีกร่วม 30-40 ชีวิต ยังไม่รวมถึงนักศึกษาคณะต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ที่ช่วยกันตระเวนหากะลามะพร้าว เทียนพรรษา และร่วมทำประทีปอย่างแข็งขัน เกิดเป็นภาพที่น่าชื่นชมในวันที่ทุกหัวใจหลอมรวมเป็นหนึ่ง ทั้งก็เพื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของทุกคน
ผอ.หมู เล่าว่า กะลามะพร้าวและเทียนพรรษาอันเป็นวัตถุดิบหลักในการทำประทีปนั้น ส่วนใหญ่ได้มาจากผู้จิตศรัทธาร่วมกันบริจาค เพราะทุกคนเต็มใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำความดีเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน จากหนึ่งเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน จนถึงหมื่น นี่คือปรากฏการณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่มากเหลือเกิน
พงษ์พัฒน์ จาโร "บ่าว" นักศึกษาปี 4 โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ ประธานทูตวัฒนธรรม กล่าวว่า ในฐานะคนของพระราชา รู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้ แม้สิ่งที่ทำจะไม่ได้ใหญ่โต แต่จะเป็นความทรงจำดีๆ ในชีวิต ที่ครั้งหนึ่งได้ทำอะไรเพื่อพระองค์ท่าน โดยตนและเพื่อนๆ ใช้เวลาหลังเลิกเรียนช่วยกันทำประประทีปตั้งแต่ตอนเย็นจนถึงเที่ยงคืน วันไหนมีการบ้านก็จะนำมาทำที่สำนักศิลปะฯ สิ่งที่ได้คือความอดทนและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ถามว่าจะมีสักกี่คนที่ได้เรียนรู้วิธีทำไส้เทียน ได้รู้ถึงการซ่อมแซมกะลามะพร้าวที่แตกหักด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ตนได้จากเพื่อนๆ ที่มาทำประทีป โดยประทีปดวงหนึ่งๆ ใช้เวลาในการทำประมาณ 10-20 นาที เพราะต้องรอให้เทียนที่หยอดลงไปแห้งดีเสียก่อน จากนั้นจึงนำมาทดลองลอยในน้ำ แม้จะผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมายกว่าจะออกมาเป็นประทีปสักดวง แต่พวกตนก็ช่วยกันทำเพื่อถวายพ่อหลวง ซึ่งแสงเทียนจากประทีปนั้นเปรียบได้กับแสงสว่างแห่งโครงการพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์
ด้าน สิทธิชัย ผลอารี "โอม" นักศึกษาปี 4 โปรแกรมวิชาชีววิทยาและชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตนายกสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวบ้างว่า การทำประทีปไม่ยาก แต่ที่ยากกว่าคือการกล้าที่จะเดินเข้ามาทำสิ่งใหม่ๆ ตนอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ อยากปิดทองหลังพระ ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ที่ว่า "การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้"
ขณะที่ พัฒนพงษ์ สุขสว่าง "แท๊ป" นายกสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวจาก ผอ.หมู ว่าจะมีการจัดงานลอยประทีปฯ ซึ่งมีกะลามะพร้าวจำนวนมากที่ต้องการกำลังคนในการตกแต่ง ขัดเกลา ตนและเพื่อนๆ นักศึกษาในคณะร่วม 200 คน จึงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาช่วยขัดกะลา รู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการถวายความอาลัยแด่พระองค์ท่าน ซึ่งตอนนี้ยังต้องการจิตอาสาอีกมาก อยากให้เพื่อนๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำดีเพื่อพ่อ
จักริน หนูคล้าย "บู" นักศึกษาปี 4 โปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ กรรมการองค์การนักศึกษาภาคปกติ ซึ่งร่วมกับเพื่อนๆ ตระเวนขอเทียนพรรษาจากวัดต่างๆ กล่าวบ้างว่า รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำเพื่อพ่อหลวง แม้ไม่มีใครเห็นแต่พวกตนก็ทำด้วยใจ ไม่มีใครบังคับ ทุกคนเสียสละเวลาส่วนตัวมาทำความดี ด้วยความรักและจิตสำนึกแห่งความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านปิดท้ายด้วย มณฑา เพชรสุวรรณ์ "ป้าแหม่ม" พนักงานบริการประจำสำนักศิลปะฯ ผู้คอยหุงหาอาหารให้บรรดาจิตอาสา กล่าวว่า ผอ.หมู พูดเสมอว่านักศึกษามาช่วยกันทำประทีปจนดึกดื่น เราจะให้พวกเขาหิวได้อย่างไร แม้ตนจะเป็นแม่บ้านแต่ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการทำความดี บางคนอาจคิดว่าไม่สำคัญ แต่นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับตน
การได้ทำเพื่อพระองค์ท่าน ถือเป็นความภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิต ที่อาจหาโอกาสแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit