เจาะลึก GDPเกษตร Q3 แล้งยังส่งผล หดตัว 0.2 ด้านรายได้เกษตรกรเพิ่ม 12.5% จากราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้น

18 Nov 2016
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ภัยแล้งยังกระทบสาขาพืช ฉุดภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3 หดตัว 0.2 ในขณะที่อีก 4 สาขาขยายตัวดี โดยเฉพาะสาขาประมง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นและเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดี ด้านรายได้เกษตรกรในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.5 จากราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาสที่ 3 ปี 2559 (กรกฎาคม – กันยายน 2559) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 พบว่า หดตัวร้อยละ 0.2 โดยสาขาการผลิตที่หดตัว คือ สาขาพืช ส่วนสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อดูรายละเอียดของแต่ละสาขา พบว่า

สาขาพืชหดตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นแบบน้ำท่วมไหลผ่าน ไม่ท่วมขังเป็นเวลานาน จึงไม่กระทบต่อการผลิตพืชมากนัก โดยผลผลิตพืชสำคัญออกสู่ตลาดลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีผลผลิตรวม 1.55 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีผลผลิต 1.65 ล้านตัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตรวม 1.30 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีผลผลิต 1.42 ล้านตัน

สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) มีผลผลิตรวม 625,720 ตัน ลดลงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 853,072 ตัน ในส่วนของยางพารา มีผลผลิตในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็น 1.27 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งมีผลผลิตอยู่ที่ 1.28 ล้านตัน

ด้านราคาพืชที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 อาทิ ข้าวเปลือกเจ้า ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 , 6.3 , 8.5 และ 2.5 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี

สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 4.2 เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรคมากขึ้น ส่วนปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ยังคงมีทิศทางลดลง

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.9 เนื่องจากในช่วงฤดูเพาะปลูกของปีนี้เริ่มมีฝนตกตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการจ้างบริการเตรียมดินและไถพรวนดินเพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากผลผลิตไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้น โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าที่หมดอายุจากการส่งเสริมของ กยท. และเป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ ขณะที่ไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดเช่นกัน

หากมองถึงรายได้เกษตรกรในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 พบว่า เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยข้าวเปลือกเจ้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ราคา 8,282 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 7,809 บาท/ตัน สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ และสับปะรด) ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 24.4 , 25.9 , 64.7 , 113.1 และ 5.3 ตามลำดับ ส่วนราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และ 74.8 ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์ผลผลิตสินค้าข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ผลผลิตข้าวของไทยในรอบ 5 เดือน (มี.ค. – ก.ค.) ปี 2559 อยู่ที่ 3.29 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 4.66 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลงร้อยละ 29.40 ส่วนผลผลิตข้าวของเวียดนามในรอบ 5 เดือน (มี.ค. – ก.ค.) ปี 2559 อยู่ที่ 19.50 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 20.69 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลงร้อยละ 5.75 จะเห็นได้ว่า ผลผลิตข้าวของไทยและเวียดนาม มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกัน

ผลผลิตยางพารา (ยางแห้ง) ของไทยในไตรมาส 3/2559 อยู่ที่ 1.210 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส3/2558 ซี่งอยู่ที่ 1.213 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 0.25 และผลผลิตยางพารา (ยางแห้ง) ของมาเลเซียในไตรมาส3/2559 อยู่ที่ 0.114 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2558 ซึ่งอยู่ที่ 0.116 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 1.72

ด้านผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยในไตรมาส 3/2559 อยู่ที่ 2.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2558 ซึ่งอยู่ที่ 2.50 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.20 เนื่องจากปี 2559 มีฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ส่วนผลผลิตปาล์มน้ำมันของมาเลเซียในไตรมาส 3/2559 อยู่ที่ 24.69 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2558 ซึ่งอยู่ที่ 28.61 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 13.70 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง

อัตราการเติบโตของภาคเกษตร

หน่วย: ร้อยละ

สาขา

ไตรมาสที่ 3/2559 (ก.ค.– ก.ย. 2559)

ภาคเกษตร

-0.2

พืช

-2.0

ปศุสัตว์

2.9

ประมง

4.2

บริการทางการเกษตร

1.9

ป่าไม้

2.3