ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 ถึง 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,170A คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า หลังจากที่สำนักพระราชวังมีประกาศเรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ประชาชนทั่วประเทศต่างอยู่ในภาวะโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อแสดงความอาลัยและร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อผสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ในทุกพื้นที่ของประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งการจัดกิจจกรมในนามหน่วยงานหรือองค์กรตลอดจนการทำกิจกรรมในนามส่วนบุคคล ซึ่งในทุกกิจกรรมได้มีผู้เข้าร่วมอย่างมากมายด้วยความเต็มใจเพื่อต้องการมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แต่อย่างไรก็ตามผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งมีความรู้สึกว่าหน่วยงานหรือองค์กรบางแห่งอาศัยการกิจกรรมเพื่อหาผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นการแอบแฝง จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.77 ส่วนร้อยละ 49.23 เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้
ในด้านการเข้าร่วม/ทำกิจกรรมแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้มีโอกาสเข้าร่วมหรือทำกิจกรรมเพื่อแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้วประมาณ 7 ถึง 9 กิจกรรมซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38.63 รองลงมาร้อยละ 26.41 ได้มีโอกาสเข้าร่วมแล้วประมาณ 3 ถึง 6 กิจกรรม ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.38 และร้อยละ 12.31 ได้มีโอกาสเข้าร่วมแล้ว 10 กิจกรรมหรือมากกว่า และประมาณ 1 ถึง 2 กิจกรรม ตามลำดับ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.26 ระบุว่าตนเองยังไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเลย
ส่วนประเภทของกิจกรรมการแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่กลุ่มตัวอย่างรู้สึกชื่นชมมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ กิจกรรมจุดเทียน/แปรอักษร/ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีคิดเป็นร้อยละ 86.41 กิจกรรมเป็นจิตอาสาร่วมทำความสะอาด/แจกอาหาร/สิ่งของต่างๆคิดเป็นร้อยละ 85.04 กิจกรรมลงนามแสดงความอาลัย/รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณคิดเป็นร้อยละ 82.56 การจัดทำของที่ระลึกมอบให้ประชาชน(เสื้อ เข็มกลัด หนังสือ)คิดเป็นร้อยละ 80.17 และการจัดนิทรรศการแสดงพระราชประวัติ/พระราชกรณียกิจคิดเป็นร้อยละ 76.84
ในด้านความคิดเห็นต่อการเข้าร่วมกิจกรรมแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 92.56 มีความคิดเห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีส่วนทำให้ตนเองรู้สึกคิดถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมากขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 89.74 มีความคิดเห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีส่วนทำให้ตนเองได้รับรู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 81.62 มีความคิดเห็นว่าการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะมีส่วนช่วยให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจต่างๆของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างถึงประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.64 เชื่อว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มอาศัยการจัดกิจกรรมแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อแอบแฝงในการหาผลประโยชน์/รายได้ทางธุรกิจ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit