ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคการเกษตร ถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้นโยบายของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบัน ที่มุ่งเป้าไปในเรื่องการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าการเกษตร
สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จึงมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรกับช่องทางการตลาด เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกได้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนากระบวนการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า ไปจนถึงการเจรจาธุรกิจกับคู่ค้า สร้างอำนาจต่อรองและยกระดับราคาผลผลิตให้เพิ่มสูงขึ้น
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านไชยภักดี จำกัด จังหวัดตรัง นับเป็นตัวอย่างสถาบันเกษตรกรที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้จะเป็นสหกรณ์ขนาดเล็กระดับตำบล ปัจจุบันมีสมาชิกซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่อยู่ราว 700 ครอบครัว ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยึดอาชีพทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันควบคู่กัน ธุรกิจหลักของสหกรณ์จึงมีทั้งการรวบรวมยางพาราและปาล์มน้ำมัน
จนกระทั่งปี 2555 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรังได้นำตัวแทนสหกรณ์ในจังหวัดตรังไปดูงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเฟ้นหาเทคโนโลยีและงานวิจัยที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตร และเริ่มสนใจที่จะสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เนื่องจากในแต่ละปี สหกรณ์จะรวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันของสมาชิกและสหกรณ์เครือข่ายในจังหวัดตรังได้ประมาณ 13,000 ตัน แล้วส่งจำหน่ายให้กับทางชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด จังหวัดกระบี่ แต่ต้องมีต้นทุนเรื่องค่าขนส่ง
ทางสวทช.ได้ลงมาสำรวจพื้นที่และศึกษาความพร้อมของสหกรณ์ ก่อนจะช่วยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาในการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และสนับสนุนให้สหกรณ์ใช้นวัตกรรมในการสกัดน้ำมันแบบแห้ง และไร้มลพิษ ซึ่งจะไม่มีน้ำเสียหรือมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และใช้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่าง ครบวงจร โดยสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณงบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประมาณ 36 ล้าน เพื่อจัดซื้อเครื่องจักร ก่อสร้างโรงงานและอาคารสำนักงาน บนพื้นที่ 32 ไร่ และสหกรณ์สมทบเงินไปอีก 24 ล้านบาท ทีมวิศวกรจากสวทช.เข้ามาช่วยดูแลในด้านเทคนิค เครื่องจักรและอบรมเจ้าหน้าที่ภายในโรงงาน
นายสุนันท์ คิดรอบ ผู้จัดการสหกรณ์ฯ เปิดเผยว่า โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านไชยภักดี จำกัด เป็นต้นแบบโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กระดับชุมชนแห่งแรกของประเทศที่ดำเนินการโดยสหกรณ์ และเป็นโรงงานที่ไม่ใช้ไอน้ำ ไม่มีน้ำเสียไม่มีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสหกรณ์คาดหวังว่าโรงงานแห่งนี้จะช่วยรองรับผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่และเชื่อมโยงกับเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดตรัง เช่น สหกรณ์การเกษตรวังวิเศษ จำกัด สหกรณ์การเกษตรวังเจริญ จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางวังคีรี จำกัด วิสาหกิจชุมชนบางกุ้ง ในการรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันเข้าสู่กระบวนการแปรรูป และยังสามารถสร้างงานให้คนในชุมชน โดยชาวบ้านส่งลูกหลานมาทำงานในโรงงานแห่งนี้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับชุมชนได้อย่างดี
เงื่อนไขของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของสหกรณ์ คือรับซื้อแต่ผลปาล์มสุก และจะให้ราคารับซื้อที่สูงกว่าตลาดกก.ละ 50 สตางค์ เพื่อรณรงค์ให้สมาชิกตัดผลผลิตสุกแก่เต็มที่มาขาย เพราะจะทำเปอร์เซ็นต์น้ำมันมีความเข้มข้น มีคุณภาพ และยังช่วยลดต้นทุนระหว่างกระบวนการแปรรูป จากเดิมที่ต้องใช้วัตถุดิบปาล์มน้ำมัน 45 ตันทลายต่อวัน แต่ถ้าผลปาล์มสุกแก่เต็มที่ จะใช้เพียง 40 ตันทลาย แต่ได้ปริมาณและค่าน้ำมันที่เท่ากัน
ปัจจุบันสหกรณ์ส่งน้ำมันปาล์มขายให้กับบริษัทเอกชนไปแล้ว 130 ตัน ค่าน้ำมันที่สกัดได้อยู่ที่ 18% และตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาคุณภาพน้ำมันปาล์มให้มีค่าน้ำมันอยู่ที่ 20% เนื่องจากค่าความต่างของเปอร์เซ็นน้ำมัน 1% จะมีค่าตันละ 300 บาท ซึ่งปีต่อไปสหกรณ์คาดว่าจะสามารถรับซื้อปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานได้ปริมาณเพิ่มขึ้น โดยจะกำหนดราคารับซื้อตามเปอร์เซ็นต์ของน้ำมันที่หีบได้ และสูงกว่าที่เอกชนรับซื้อ โดยสหกรณ์จะเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้คุณภาพแก่สมาชิก โดยจะจัดหานักวิชาการเกษตร เพื่อไปแนะนำเรื่องการจัดการภายในสวนปาล์ม การดูแลรักษา ใช้ปุ๋ยบำรุงต้นปาล์ม การวิเคราะห์ดินเพื่อใส่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดิน เพื่อให้ได้ผลผลิตปาล์มที่มีคุณภาพ เนื่องจากการจัดการสวนปาล์ม การดูแลรักษาและพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ทุกขั้นตอนมีความสัมพันธ์และส่งผลกับคุณภาพผลผลิตทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งนี้ ยังสามารถนำวัตถุดิบที่เหลือจากการแปรรูปไปใช้ประโยชน์ต่อได้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกแล้ว จะนำผลปาล์มมาบ่มให้ลูกหลุดล่อนจากทลาย ก่อนจะนำเข้าเครื่องฉีด เพื่อแยกผลปาล์มร่วงออกมาแล้วนำเข้าเครื่องอบ เป็นเวลา 3-4 ชม. จากนั้นจึงนำผลปาล์มที่ผ่านการอบไปพักไว้ 7-8 ชม. เพื่อให้เนื้อกับเมล็ดแยกออกจากกันได้มากที่สุด เพื่อลดอัตราการสูญเสียและให้ได้น้ำมันเต็มที่ แล้วจึงนำผลผลิตเข้าเครื่องหีบน้ำมัน ซึ่งในการอบและการหีบน้ำมันจะใช้พลังงาน Biomass จากกลีบเลี้ยงและกะลาเม็ดในมาเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนแทนการใช้แก๊ส LPG ซึ่งช่วยลดต้นทุนภายในโรงงานได้
ในกระบวนการหีบน้ำมัน เครื่องจักรจะแยกน้ำมัน เมล็ดปาล์ม และกากไยปาล์ม ออกจากกัน น้ำมันปาล์มที่ได้จะนำเข้าสู่ถังเก็บพักรอขนส่งให้บริษัทเอกชน ส่วนเมล็ดปาล์ม สามารถขายได้กิโลกรัมละ 5 บาท หากกะเทาะให้ได้เมล็ดใน ก็จะเพิ่มมูลค่ายิ่งขึ้น ขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนกากปาล์มที่เหลือจากการหีบน้ำมัน สามารถขายไปเป็นอาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยได้ ซึ่งขณะนี้สหกรณ์อยู่ระหว่างการคิดค้นสูตรปุ๋ยหมักจากทลายปาล์มและกากปาล์ม โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อวิจัยคิดค้นหาสูตรปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้ประโยชน์จากของเหลือจากการผลิตปาล์มน้ำมัน มาทำปุ๋ยหมัก ซึ่งจะมีการคิดค้นหาค่าสารอาหารที่เหมาะสมเพื่อไปขึ้นทะเบียนกับ กรมวิชาการเกษตร โดยจะทำให้เป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพและเป็นสูตรเฉพาะของสหกรณ์ เพื่อที่จะนำไปใช้กับพืชผลทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และจะจำหน่ายถูกกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้ตามนโยบายของรัฐบาล
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านไชยภักดี จำกัด ยังคงเดินหน้าเพื่อพัฒนาธุรกิจที่เป็นประโยชน์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นกระบวนการที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน และยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ขายผลผลิตได้ราคาดี ไม่โดนพ่อค้าคนกลางกดราคาและเมื่อมีกำไรก็แบ่งปันผลคืนสู่สมาชิก ขณะเดียวกันก็สร้างงานให้กับลูกหลานเกษตรกรในพื้นที่ได้เข้ามาทำงานในโรงงาน มีรายได้เลี้ยงครอบครัวและช่วยลดปัญหาการว่างงาน สหกรณ์แห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นที่พึ่งพิงให้กับเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit