ปีที่แล้วไทยออกพระราชบัญญัติงาช้างเพื่อควบคุมตลาดค้างาช้างถูกกฎหมายที่มาจากช้างบ้านของไทยซึ่งเป็นช้างเอเชีย เท่านั้น รัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้ช้างแอฟริากันเป็น 1 ในสัตว์คุ้มครองของไทยซึ่งมีผลห้ามการซื้อขายหรือครอบครองงาช้างแอฟริกันโดยเด็ดขาด
แต่ทว่ารายงานจากองค์กร TRAFFIC ยังตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างอีกไม่น้อยกว่า 2,550 ชิ้นถูกประกาศขายในสื่อสังคมออนไลน์ผ่าน Facebook และ Instagram ซึ่งสร้างความกังวลว่าการค้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจเพียงย้ายจากโลกออฟไลน์ไปยังออนไลน์เท่านั้น
ผลการสำรวจนี้เพิ่งถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 ในการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส โดยตัวแทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติถึง 190 ประเทศ ณ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ที่ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อตัดสินหนทางในการยุติการค้างาช้างผิดกฎหมายและปิดตลาดงาช้างในประเทศอย่างถาวรช
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กร WildAid (ไวลด์เอด) เองก็เพิ่งนำเสนอผลการดำเนินแผนปฏิบัติการลดความต้องการผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าในกลุ่มผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียขององค์กรด้วยตัวเลขมูลค่าในตลาดและอัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าความพยายามในการต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนนั้นไม่สูญเปล่า โดยรายงานมูลค่าค้าส่งของผลิตภัณฑ์งาช้างล่าสุดในประเทศจีนและฮ่องกงจัดทำโดย WildAid พบว่ามีมูลค่าต่ำกว่าช่วงปีพ.ศ. 2557 ที่สูงถึง 2,100 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม อยู่ถึงร้อยละ 57-78
"จากผลการสำรวจเราพบว่าผู้คนในภูมิภาคเอเชียมีการรับรู้ถึงวิกฤตการลักลอบล่าสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในไม่กี่ปีมานี้ และในตอนนี้เรากำลังได้เห็นผลกันแล้วจากการลดลงของความต้องการบริโภคและมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าเหล่านั้น นี่ยังคงไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา แต่การที่แรงจูงใจและเหตุผลในการล่าและการคอรัปชันลดลงนั้นจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ที่เห็นงาช้างเป็นการลงทุนทางการค้ากำลังได้รับผลกระทบทางลบจากการรณณงค์ สร้างความรับรู้ ของภาครัฐและสื่อเอกชนต่างๆทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเรายังคงมีแสงสว่างอยู่ที่ปลายทางของอุโมงค์อันดำมืดนี้" ปีเตอร์ ไนท์ ผู้อำนวยการองค์กร WildAid กล่าว
การอนุรักษ์สัตว์ป่าแต่เดิมทีจะพึ่งพาแต่เพียงการควบคุมดูแลอุปทานและการค้ามากกว่าการลดความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าผิดกฎมายอย่างเช่นที่องค์กรWildAidได้ริเริ่มการอนุรักษ์ที่มุ่งเน้นไปยังการลดความต้องการบริโภค และความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าเป็นหลักขึ้นในประเทศไต้หวันเมื่อปีพ.ศ. 2537 ด้วยความร่วมมือจากแจ๊กกี้ ชาน หรือเฉินหลง ทั้งๆที่ในขณะนั้นไต้หวันเป็นตลาดค้านอแรดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันไต้หวันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้านอแรดอีกต่อไปแล้วไต้หวันจึงถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดผนวกกับอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลงนั้นสามารถที่จะลดและหยุดยั้งการล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมายได้ในที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมาองค์กร WildAid (ไวลด์เอด) ได้เปิดตัวโครงการรณรงค์ "Ivory Free Thailand หยุดซื้องาช้าง" ที่มีเป้าหมายรณรงค์ให้คนไทยหยุดซื้อ หยุดใช้ และหยุดรับผลิตภัณฑ์งาช้างเป็นของขวัญโครงการนี้ได้เปิดตัวไปพร้อมกับโฆษณารณรงค์ 2 ชิ้น ที่มีคุณจา พนม ยีรัมย์, โค้ช ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, 'เจ'ชนาธิป สรงกระสินธ์ และ 'ก้อง' เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ ร่วมเป็นทูตให้กับ WildAid โฆษณารณรงค์ทั้ง 2 ชิ้นได้ออกอากาศ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ และเผยแพร่ทางหน้าเพจโซเชียลมีเดียต่างๆ บริษัทวีจี ไอ โกลบอลมีเดียยังได้ร่วมสนับสนุนให้พื้นที่สื่อบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อเผยแพร่สื่อรณรงค์ดังกล่าวไปถึงผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสอีกด้วย
"เราจำเป็นต้องสร้างความตระหนักให้กับคนไทยได้รับรู้ว่าตลาดค้างาช้างไทยมีส่วนกระตุ้นปัญหาการฆ่าช้างเอางาในแอฟริกา เราต้องลดความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างอย่างเร่งด่วน" จอห์น เบเกอร์ กรรมการผู้จัดการองค์กร WildAid กล่าว "เพราะ หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit