1. เศรษฐกิจและการเงินโลกยังคงเผชิญความท้าทายต่าง ๆ อาทิ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ สภาวะตลาดการเงินโลกที่ผันผวน และการหดตัวของการค้าโลก เป็นต้น ทำให้สมาชิกเอเปคจะต้องร่วมมือกัน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือทางการคลัง เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและทั่วถึง ควบคู่ไปกับการรักษาความยั่งยืนทางการคลัง เสริมสร้างเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการปฏิรูปโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง
2. การประชุม APEC FMM ครั้งนี้ได้หารือถึงการปรับปรุงกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคและการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู (Cebu Action Plan) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคได้เห็นชอบในการประชุมครั้งที่แล้ว เพื่อให้การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เอเปคมีประสิทธิภาพ เน้นผลลัพธ์ และสามารถช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสมาชิกได้มากขึ้น และในการประชุมครั้งที่ 23 นี้ ที่ประชุมได้เน้นการหารือใน 3 ประเด็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการเซบูดังกล่าว ประกอบด้วย
2.1 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเน้นการยกระดับคุณภาพของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานผ่านการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) โดยจะเชื่อมโยง PPP Knowledge Portal หรือศูนย์รวมข้อมูลความรู้การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน กับ Global Infrastructure Hub ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มประเทศ G20 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลของภาคเอกชน รวมทั้ง จะประสานกับองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง PPP เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2.2 การสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งเน้นความร่วมมือของสมาชิกในการสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และให้มีการให้ความรู้ทางการเงินที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ รวมไปถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมทางดิจิทัลที่จะอำนวยความสะดวกในการให้บริการทางการเงินอีกด้วย
2.3 การบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อให้สมาชิกเตรียมการรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการสนับสนุนให้มีการทำประกันภัย และยินดีที่องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ WBG ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปัจจุบัน
3. นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นอื่น ๆ เช่น การสนับสนุนมาตรการจำกัด การวางแผนภาษีและการเคลื่อนย้ายกำไร (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ความคืบหน้าของโครงการจัดการกองทุนภูมิภาคเอเชียข้ามพรมแดน (Asia Region Funds Passport: ARFP) เพื่ออำนวยความสะดวก การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจุบัน ได้มีสมาชิกเอเปคเข้าร่วมแล้ว 5 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศไทย เป็นต้น
การประชุม APEC FMM ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2560 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม