ไบโอฟาร์มชวนสืบสานประเพณีตักบาตรพระร้อย

12 Oct 2016
ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ ร่วมสืบสานประเพณีโบราณ "งานตักบาตรพระร้อย" ประเพณีตักบาตรทางน้ำของชุมชนวัดหงษ์ปทุมาวาส เทศบาลเมืองปทุมธานี ในวันที่ 18 ต.ค. ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวไทยเชื้อสายมอญปฏิบัติกันมายาวนาน พร้อมนำยาสามัญประจำบ้าน ถวายแด่เจ้าอาวาสวัดหงษ์ปทุมาวาส และชุมชนวัดหงษ์ฯ เขตเทศบาลปทุมธานีกว่า 30 ชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงาม และส่งเสริมสุขภาพชุมชนโดยรวมที่เป็นสุขยิ่งขึ้น

ชุมชนวัดหงษ์ปทุมาวาส เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวมอญ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน บ้านเรือนประชาชนแต่เดิมจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงออกพรรษาเป็นช่วงน้ำหลาก บรรยากาศชุมชื่นการสัญจรไปมาทางเรือสะดวก ดังนั้นการตักบาตรพระสงฆ์จึงใช้เรือในการบิณฑบาตบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านประชาชน การตักบาตรพระร้อยของชาวปทุมธานีในอดีต ดูแปลกกว่าที่อื่นๆ โดยเฉพาะงานตักบาตรพระร้อย ประเพณีตักบาตรทางน้ำตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการตักบาตรเป็นระยะทางไกลเป็นกิโลเมตร ในอดีตเมื่อครั้งที่ชาวบ้านยังใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางหลักสัญจรไปมา แทบทุกครัวเรือนจะมีเรือเป็นพาหนะสำคัญไว้ใช้ เช่น เรือชะล่า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เรือแปะ" เรือสำปั้น, เรือบด, เรือโปง (เรือขุด) และเรือหมู เป็นต้น

นายอินสัย สินกลาง ประธานชุมชนวัดหงษ์ปทุมาวาส กล่าวว่า ประเพณีดังกล่าวเป็นการสืบสานวัฒนธรรมของคนมอญ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อนานมาแล้ว แต่เมื่อมาร่วมกันอยู่จึงฟื้นฟูประเพณีการตักบาตรพระร้อย เพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นถึงความสำคัญของประเพณี ในสมัยก่อนอาหารที่จัดเตรียมจะเป็นอาหารคาว อาทิ แกงเนื้อใส่มะเขือ ข้าวแช่ อีกทั้งอาหารคาวหวาน หมี่กรอบ ผัดเผ็ด ผลไม้ ส้ม องุ่น กล้วยหอม ขนมถ้วยฟู ข้าวต้มมัด ข้าวเม่าทอด ขนมตาล ขนมสอดไส้ แต่ละบ้านจัดเตรียมแยกไว้เป็นอย่างๆ ในปริมาณมากเนื่องจากมีพระภิกษุมารับบิณฑบาตเป็นจำนวนมาก และเพื่อความสะดวกในการตักบาตรทางเรือ ครั้นเตรียมอาหารเสร็จแล้วก็ยกลงเรือ พ่อพายท้าย แม่พายหัว ตอนกลางลำเรือไว้ให้ลูกๆ นั่งและตั้งอาหาร พายเรือไปพ่วงต่อๆ กันเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "จับเข้าพวง" บางบ้านใช้เรือติดเครื่องยนต์ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว โยงลากจูงกันตั้งแต่ต้นพวงถึงปลายพวง ภาพของเรือนานาชนิดลอยลำอยู่ในแม่น้ำนับร้อยลำ เป็นแพเต็มลำน้ำ มีสีสันหลายหลากดูงดงามตา ต่อมาเมื่อมีการใช้ถนนหนทางเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม การใช้เรือค่อยๆ ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ประกอบกับริมฝั่งแม่น้ำลำคลองมีสิ่งปลูกสร้าง และพัฒนาภูมิทัศน์มากขึ้น ทำให้ชาวบ้านบางส่วนสะดวกที่จะนั่งรอใส่บาตรอยู่ริมฝั่งบริเวณท่าน้ำหน้าวัด ท่าน้ำหน้าบ้าน หรือบริเวณใกล้เคียง บางส่วนก็สะดวกที่จะลงเรือรอใส่บาตร พอถึงเวลาที่กำหนด พระตามวัดต่างๆ จะนั่งเรือโดยมีลูกศิษย์วัดหรือชาวบ้านมาช่วยพายเรือให้พระนั่งรับบาตร เพื่อรับอาหารคาวหวานตามชาวบ้านเรื่อยไปทุกบ้านต่อๆ ไปจนครบ 100 รูป กว่าจะรับบาตรเสร็จก็เป็นเวลาประมาณ 10นาฬิกา เมื่อพระรูปใดรับบาตรเสร็จแล้วก็จะพากันกลับวัดของตนส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่รอตักบาตรอยู่ในเรือ ประชาชนที่มาตักบาตรพระร้อยมีทั้งคนในพื้นที่ละแวกวัด เชิญชวนให้ผู้มาตักบาตรร่วมทำบุญ หลังตักบาตรเสร็จแล้ว กลางวันปิดทองพระประธานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในวัดหงษ์ปทุมาวาส มีพระพุทธชินราชจำลองปางมารวิชัย เจดีย์มอญจำลองแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองในเมืองหงสาวดี ที่งดงามอีกด้วย

คุณเศกสุข เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด กล่าวว่า ประเพณีตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญ มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งชาวพุทธศาสนิกชนจะตระเตรียม อาหาร น้ำดื่ม ผลไม้มาใส่บาตร และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือยารักษาโรคซึ่งในปัจจุบันมีการนำยามาถวายพระมากขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง ทางบริษัท ไบโอฟาร์มและโครงการตู้ยา Biopharmเพื่อชุมชน ปีที่ 2 ก็ได้นำชุดยาสามัญประจำบ้าน ถวายแด่พระครูปทุมวรคุณ เจ้าอาวาสวัดหงษ์ปทุมาวาส ต.บางปรอก อ.เมือง จ.ปทุมธานี

บริษัท ไบโอฟาร์มฯ ขอเป็นตัวแทนความห่วงใย เพื่อบรรเทาดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นของพระสงฆ์ รวมทั้งเรายังนำยาสามัญประจำบ้านอีก 30 ชุดมาบริจาคให้กับชุมชน เขตเทศบาลเมืองปทุมธานีอีกด้วย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม และสุขภาพชุมชนโดยรวมที่เป็นสุขยิ่งขึ้น นายเศกสุข กล่าวปิดท้าย