อุตฯ เดินเครื่องพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่ม Spring up ตั้งเป้าอัพเกรดผู้ประกอบการเพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทย

26 Oct 2016
· กสอ. เปิดโครงการเอสเอ็มอีสปริงอัพ รุ่น 2 และรุ่น 3 ติวผู้ประกอบการกว่า 200 ราย รับนโยบายการขยายตัวอุตสาหกรรมไทย
อุตฯ เดินเครื่องพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่ม Spring up ตั้งเป้าอัพเกรดผู้ประกอบการเพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทย

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่ม Spring Up หรือผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพ และมีความสามารถในการก้าวกระโดดในการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการฝึกอบรมโครงการ SMEs Spring UP รุ่นที่ 1 ไปแล้ว 100 ราย และกำลังจะฝึกอบรมรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 อีก รุ่นละ 100 ราย รวมทั้งสิ้น 200 ราย ให้มีความโดดเด่นและมีศักยภาพ สามารถสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ผ่านยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ให้ตนเองสามารถก้าวกระโดดสู่เวทีการค้าระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ในงบประมาณปี 2560 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ต่อยอดดำเนิน โครงการ SMEs Spring Up รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ด้วยงบประมาณสำหรับโครงการนี้กว่า 15 ล้านบาท พร้อมเพิ่มหลักสูตรที่กลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวต้องการเพิ่มเติม อาทิ การช่วยเหลือทางด้านการเงิน และกิจกรรมการจัดทำแผนนวัตกรรม และการพัฒนาตนเองภายใต้ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโลก การปรับตัวองค์กรในการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 การจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการและนโยบายในส่งเสริมการพัฒนา SMEs ให้สามารถพัฒนาองค์กรธุรกิจได้อย่าง ก้าวกระโดด โดยผู้เข้าร่วมมาจากอุตสาหกรรมหลากหลายซึ่งรวมทั้ง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค กลุ่มสุขภาพและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง กลุ่มดิจิทัล และกลุ่มครีเอทีฟและบริการ

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจะผลักดันประเทศไทย ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ได้นั้น จะต้องทำการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี โดยนอกจากผู้ประกอบการในกลุ่มสตาร์ทอัพ หรือกลุ่มผู้เริ่มต้น ซึ่งขณะนี้ถือเป็นฐานใหม่ของการจ้างงาน การเกิดนวัตกรรมใหม่ ที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการส่งเสริมแล้วนั้น ผู้ประกอบการกลุ่มสปริงอัพ หรือผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพ และมีความสามารถในการก้าวกระโดดในการทำธุรกิจ ก็เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ภาครัฐก็ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะยกระดับให้สามารถ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศให้สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม โดยสัดส่วนผู้ประกอบการกลุ่ม Spring up ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดดในปัจจุบันมีประมาณ 3-5% ของผู้ประกอบการทั้งหมดที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2.9 ล้านราย

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนากลุ่มธุรกิจ SMEs ในปี 2559 - 2560 คือ การพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่ม Spring Up หรือผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพ และมีความสามารถในการก้าวกระโดดในการทำธุรกิจที่ปัจจุบัน ได้มีการดำเนินฝึกอบรมโครงการ SMEs Spring UP รุ่นที่ 1 ไปแล้ว 100 ราย และกำลังจะฝึกอบรมรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 อีก รุ่นละ 100 ราย รวมทั้งสิ้น 200 ราย ให้มีความโดดเด่นและมีศักยภาพ สามารถสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ผ่านยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ให้ตนเองสามารถก้าวกระโดดสู่เวทีการค้าระดับนานาชาติ เติบโตเป็นกิจการที่มีความแข็งแกร่ง และมุ่งสู่การแข่งขันกับธุรกิจในระดับโลกได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มดังกล่าว นับเป็นกลุ่ม ที่มีความสำคัญ ซึ่งถ้าหากได้รับการพัฒนา เสริมสร้างองค์ความรู้ ปรับกระบวนการดำเนินงานด้วยกลยุทธ์ใหม่ ๆ อย่างจริงจังก็จะสามารถเป็นส่วนช่วยให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ นำพาสู่การเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำและสามารถเป็นต้นแบบให้ธุรกิจในระดับเริ่มต้นเกิดการต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ได้ดำเนิน โครงการ SMEs Spring UP ด้วยการจัดหลักสูตรการอบรมระดับสูง ซึ่งรวบรวมผู้บริหารทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและอีกหลากหลายด้านให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดโดยในปีงบประมาณ 2560 ได้ต่อยอดดำเนินโครงการ SMEs Spring Up รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ด้วยงบประมาณสำหรับโครงการนี้กว่า 15 ล้านบาท โดยได้เพิ่มหลักสูตรที่องค์กรกลุ่มดังกล่าวต้องการเพิ่มเติม อาทิ การช่วยเหลือทางด้านการเงิน และกิจกรรมการจัดทำแผนนวัตกรรม และการพัฒนาตนเองภายใต้ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโลก การปรับตัวองค์กรในการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 การจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ มาตรการและนโยบายในส่งเสริมการพัฒนา SMEs ให้สามารถพัฒนาองค์กรธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากธุรกิจภาคเอกชนขนาดใหญ่ อาทิ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอลเคมีคอล จำกัด ฯลฯ มาร่วมถ่ายทอดบทเรียนที่จะนำผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ โดยมีผู้ประกอบการกว่า 200 คน จากอุตสาหกรรมหลากหลายซึ่งรวมทั้ง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและ เกษตรแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค กลุ่มสุขภาพและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง กลุ่มดิจิทัล และกลุ่มครีเอทีฟและบริการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอบรมหลักสูตรในครั้งนี้

นอกจากนี้ กสอ.ยังพร้อมผลักดันโครงการต่าง ๆ ภายใต้งบประมาณปี 2560 กว่า 830 ล้านบาท อาทิ โครงการเพิ่มผลิตภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โครงการสร้างและส่งเสริมเอสเอ็มอีอัจฉริยะ ฯลฯ มาเป็นแนวทาง ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในภาพรวม โดยเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการของ กสอ. จะสามารถพัฒนาตนเองให้เกิดแนวคิดและมุมมองใหม่ ๆ เพื่อการก้าวพาตนเองไปสู่ การเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการพัฒนาในด้านผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จำเป็นต้องตระหนักถึง

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4531 ,02 202 4578 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

HTML::image(