มร.ซิด วินยาร์ด (Sid Vinyard ) ผู้บริหาร ฮุสตัน เทคโนโลยี เซ็นเตอร์ ( Houston Technology Center: HTC ) กล่าวว่า ฮุสตัน เทคโนโลยี เซ็นเตอร์ เป็นองค์กรที่มิได้มุ่งหวังผลกำไรโดยมีปณิธานในการเป็นศูนย์รวมการบ่มเพาะพัฒนาธุรกิจใหม่และผู้ประกอบการ ก่อตั้งใน ปี 1997 สำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนับเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพใหญ่ที่สุด 1 ใน 10 ของโลก ได้สร้างผลงานกว่า 5,000 งานใหม่และการลงทุนกว่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีความสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายบริษัทชั้นนำกว่า 1,000 แห่ง และทำหน้าที่โค้ชให้คำปรึกษาแนะนำแก่บริษัท กว่า 250 แห่ง HTC มุ่งพัฒนาใน 5 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ ดิจิตอลสารสนเทศ, วิทยาศาสตร์ชีวภาพ, นาโนเทคโนโลยี, เทคโนโลยีอวกาศ-โทรคมนาคม และพลังงาน เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือกับภาครัฐ และภาคการศึกษาในประเทศไทย เพื่อสร้างสรรค์สตาร์ทอัพผู้ประกอบการใหม่ แผนในอนาคตอันใกล้เราจะเปิดฮับนวัตกรรมแห่งเอเซีย ทั้งนี้เพราะมั่นใจว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมในทุกมิติทั้งยุทธศาสตร์ที่ตั้ง เป็นศูนย์กลางคมนาคม การพาณิชย์และการศึกษา ตลอดจนมีความหลากหลายของธุรกิจและอุตสาหกรรมพื้นฐานอย่างครบครัน
คุณมนต์ชัย ศรีเจริญศักดิ์ (Monchai Sricharoensak) ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการตลาด สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้โครงการ Digital Startup ซึ่งเป็นโครงการที่ทาง SIPA ได้จัดขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจดิจิทัลของประเทศ หรือ Digital Economy และเพื่อเป็นการพัฒนากำลังคนทางด้านดิจิทัลอีกด้วย ความร่วมมือ 4 องค์กรจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้สตาร์ทอัพไทยให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันในเวทีโลกการสร้างกลุ่ม Tech Startup ที่มีโอกาสในการประสบความสำเร็จสูงนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายส่วน ส่วนที่สำคัญที่สุดนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นและสมาชิกของกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคและด้านธุรกิจด้วย หากแต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีสื่อกลางที่จะนำผู้มีศักยภาพและมีสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่น่าสนใจ รวมทั้งผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจมาพบเจอและร่วมงานกัน เพื่อผลักดันให้เกิดเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จได้ ที่มาของการรวมพลัง 4 องค์กรวันนี้เป็นตัวอย่างของการสร้างกลุ่ม Tech Startup ให้เข้มแข็งยั่งยืน โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังซึ่งนำโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้นำที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วน Stamford International University เป็นผู้นำพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและEntrepreneurship การนำผลงานนวัตกรรมจาก สจล. มาร่วมมือกับทีมนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถทางธุรกิจ โดยมีโค้ชระดับโลก HTC และภายใต้โครงการ Digital Startup สนับสนุนโดย SIPA
รศ. ดร. คมสัน มาลีสี (Komson Maleesee) คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า นับจากนี้ไป หลักสุตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องมีนิเวศทางดิจิตอลที่กระตุ้นการเรียนรู้เชิงวิเคราะห์สร้างสรรค์ และงานวิจัยพัฒนาจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และเดินเคียงข้างธุรกิจอุตสาหกรรม สตาร์ทอัพควรมีครรลองของการปฎิบัติและการดำเนินงานที่ดี มีมาตรฐานสากล และที่สำคัญคือการมีโค้ชที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เครือข่ายสนับสนุนและแหล่งนักลงทุนครบครันนั้น ช่วยให้เกิดความสำเร็จได้รวดเร็ว ในแต่ละปี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) มีผลงานการวิจัยพัฒนาด้าน Tech R&D ในสาขาต่างๆ เฉลี่ยรวมปีละกว่า 1,000 ชิ้น ผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นของเรา อาทิ หุ่นยนต์ รปภ.TubbyBot, วีลแชร์ควบคุมด้วยดวงตา, เครื่องวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียน เป็นต้น ต่อไปเมื่อจับกลุ่มก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนโนว์ฮาวการบริหารจัดการและการตลาด ความร่วมมือของ 4 องค์กรในวันนี้ จะมาเติมเต็มให้สตาร์ทอัพไทยมีความก้าวหน้าและความสำเร็จ สจล.มั่นใจมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด (STIU) มีประสบการณ์และบุคคลากรอาจารย์และนักศึกษาปริญญาโทด้านการตลาด บริหารธุรกิจและการเงิน สามารถจับกลุ่มและร่วมกันทำงานได้อย่างดี เรายังได้เรียนรู้จากโค้ช HTC ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพระดับโลก นี่จะเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับสตาร์ทอัพนักศึกษาและประชาชนที่สนใจ อันจะนำมาซึ่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตในสังคมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจสู่ไทยแลนด์ 4.0
ดร.แอนดรูว์ สกาวน์ ( Andrew Scown) อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เป็นการดึงเอาจุดแข็งของแต่ละสถาบันมาประสานกันได้อย่างลงตัว เริ่มต้นจากการนำงานนวัตกรรมจากคณะวิศวลาดกระบัง มาต่อยอดด้วยองค์ความรู้ทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Enterpreneurship) ของแสตมฟอร์ด โดยนักศึกษาจากทั้งสองสถาบันจะได้เรียนรู้และพัฒนาโครงการวิศวกรรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ให้มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจยิ่งขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนจาก SIPA และประสบการณ์ระดับโลกของ HTC ที่จะทำให้โครงการนี้ยังประโยชน์แก่ประเทศ ตอบโจทย์การมุ่งสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งมุ่งสร้างความมั่งคั่งและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ประเทศโดยใช้นวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับสถาบันคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ
นับเป็นตัวอย่างอันดีของภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาก้าวใหม่ที่ยั่งยืนของประเทศไทย ในงานนี้ยังมีผลงานนวัตกรรมที่มีศักยภาพจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพได้ในอนาคต ได้แก่ เครื่องวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียน และหุ่นยนต์สุนัขรักษาความปลอดภัย TubbyBot
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit