ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาชุมชนบุกรุกริมคลองและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำริมคลองลาดพร้าวซึ่งเป็นที่ดินที่ราชพัสดุดูแล และสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งริมคลองเพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปโดยสะดวก โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง เป้าหมาย 11,004 ครัวเรือน (เป้าหมายปี 2560 จำนวน 50 ชุมชน 6,419 ครัวเรือน) และกทม.รับผิดชอบในการสร้างเขื่อนรวมความยาว 45 กิโลเมตรนั้น
ล่าสุดวันที่ 27 ตุลาคม 2559 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว ประกอบด้วย คสช., กองทัพบก, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ., กทม, กรมธนารักษ์, กรมส่งเสริมสหกรณ์ และเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง ได้จัดให้มีการปฐมนิเทศชุดปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและปทุมธานีโมเดล โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 84 คน ระยะเวลาอบรม 2 วัน คือในวันที่ 27-28 ตุลาคม 2559
การอบรมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติการในชุมชนริมคลองลาดพร้าว โดยมีเนื้อหาอบรมเกี่ยวกับ 1.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง 2.โครงการสร้างเขื่อนระบายน้ำ กทม.และแผนแม่บท กทม. 3.การพัฒนาชุมชนริมคลองอย่างยั่งยืน 4.การปฏิบัติการข่าวสาร 5.การทำงานมวลชนสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งหลังจากอบรมเสร็จแล้ว ชุดปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์ ซึ่งประกอบด้วย ทหาร ตชด. ตำรวจนครบาล เจ้าหน้าที่เขต และเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. จำนวน 5 ชุดๆ ละ 11 คนจะลงไปปฏิบัติภารกิจในชุมชนริมคลองลาดพร้าว โดยเฉพาะในชุมชนที่ประชาชนยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หรือยังไม่เข้าใจนโยบายของรัฐบาลทั้งนี้ภารกิจของชุดปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์จะลงไปสำรวจข้อมูลและทำความเข้าใจกับประชาชนในชุมชนริมคลอง เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับประชาชนที่เห็นด้วย และสำรวจความต้องการและแสวงหาความร่วมมือกับผู้อยู่อาศัยที่ไม่เห็นด้วย เพื่อให้โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองและการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าวสามารถดำเนินไปได้ตามแผนงาน โดยในปี 2560 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถดำเนินการได้จำนวน 50 ชุมชน รวม 6,419 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ชุมชน รวม 481 หลัง คือ ชุมชนบางบัว, สามัคคีร่วมใจ เขตบางเขน และชุมชนสะพานไม้ 1 เขตหลักสี่
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า พอช.ได้จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามโครงการบ้านมั่นคง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) มีเป้าหมาย 3 คลอง คือ คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร รวม 81 ชุมชน รวม 11,004 ครัวเรือน มีผู้รับผลประโยชน์ 64,869 คน ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาทเศษ แต่ในปี 2559-2560 จะเริ่มในคลองลาดพร้าวก่อน ส่วนงบประมาณแยกเป็น 1. งบสนับสนุนสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย 880 ล้านบาท 2. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาส 880 ล้านบาท 3.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2,200 ล้านบาท และ 4.สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาองค์กรชาวบ้าน และติดตามประเมินผล 100 ล้านบาท ทั้งนี้ชุมชนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามแนวทางบ้านมั่นคงจะต้องจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโครงการ และจะต้องรื้อย้ายบ้านที่สร้างอยู่ในคลองหรืออยู่ในแนวเขื่อนออกมา เพื่อปรับผังชุมชนใหม่ในที่ดินเดิม และเนื่องจากพื้นที่แต่ละชุมชนมีจำกัด ดังนั้นจึงต้องรื้อบ้านเพื่อสร้างใหม่ทั้งชุมชน โดยแต่ละครอบครัวจะได้รับการจัดสรรที่ดินเท่ากันเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในชุมชนเดิมได้
"สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. จะให้การสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนเรื่องของสินเชื่อและงบประมาณด้านสาธารณูปโภค ส่วนชุมชนใดที่มีพื้นที่ไม่เพียงพอหรืออยู่ในแนวเขื่อน ไม่สามารถสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ พอช.ก็จะสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มไปหาซื้อที่ดินแปลงใหม่ เช่น ที่ดินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ในสังกัดของกระทรวงการคลัง หรือที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ เปลี่ยนจากชุมชนบุกรุกเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีความมั่นคง โดยเฉพาะชุมชนริมคลองที่อยู่อาศัยอยู่ในที่ดินเดิมได้จะได้รับสัญญาเช่าในระยะยาวจากกรมธนารักษ์เป็นระยะเวลา30 ปี นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะสนับสนุนให้ชาวชุมชนได้พัฒนาสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รวมทั้งอาชีพ และเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้นด้วย " ผอ.พอช.กล่าว
ทั้งนี้ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "โครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่ช่วยเหลือพี่น้องได้จริงๆ เราต้องทำความเข้าใจก่อน และให้พี่น้องรวมตัวกันขึ้นมา มีระบบการออมทรัพย์ มีการออกแบบบ้าน มีการจัดการที่ดิน หรือมีการซื้อที่ดินเพิ่มเติม แล้วค่อยมีการผ่อนชำระ และเรื่องงานมวลชนถือเป็นเรื่องสำคัญ พี่น้องบางส่วนในพื้นที่เป้าหมายอาจจะยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจก็ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ รวมถึงบางพื้นที่มีมีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ จึงให้ พอช. จัดปฐมนิเทศกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดระบบ รวมถึงมีการยึดพื้นที่ ที่ผ่านมามีการยึดพื้นที่ 6 พื้นที่ ในการดำเนินการร่วมกับสำนักงานเขต สหกรณ์ ธนารักษ์ และภาคประชาสังคมไปด้วยกัน มีการวางแนวทางและวางแผนไปด้วยกัน เป็นการทำงานบูรณาการไปด้วยกัน"
และมีข้อแนะนำก่อนที่จะลงไปคือ ๑) ต้องรู้ข้อมูลพื้นที่ปฏิบัติการก่อน มีการศึกษาว่าพื้นที่ปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่ท่านรับผิดชอบกี่หลังคาเรือน ใครที่จะเป็นแกนนำ ใครเป็นแนวร่วม หรือใครเป็นผู้มีอิทธิพล ๒) ต้องรู้ถึงกระบวนการของการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งถือเป็นโครงการที่ทำเพื่อพี่น้องที่อยู่สลัมได้มีบ้านมั่นคง มีกระบวนการออมทรัพย์ ออกแบบบ้าน และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และในการปฏิบัติการต้องมีกลยุทธ์พอสมควร ทั้งความอดทน เกาะติด ลงไปหาประชาชน และอยากฝากถึงอีกประการคือ หลักศรัทธา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน คือ ชอบ เชื่อ ช่วย ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส ทักท่าย อ่อนน้อมถ่อมตน นัดหมายตรงเวลา ไม่รับปากอะไรที่ทำไม่ได้ มีความซื่อตรง และความซื่อสัตย์ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ "งานมวลชนสำคัญมาก ที่จะช่วยให้ภารกิจนี้สำเร็จ ติดต่อ เข้าถึง บูรณาการกันไป และหลักศรัทธานี้สำคัญ ประชาชนต้องเชื่อมั่น ที่ผ่านมาเราทำมาพอสมควร แม้จะมีปัจจัยอื่นมากระทบ เป้าหมายอีก ๑๒ เดือนใน ๕๐ ชุมชนต้องแล้วเสร็จ"
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit