ชวนผู้ป่วยและญาติจับมือหมอวางแผนระยะท้ายชีวิต

18 Jan 2017
ผลวิจัยชี้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ได้ผ่านกระบวนการสื่อสารพูดคุยวางแผนล่วงหน้า มีโอกาสได้เข้าสู่การตายอย่างสงบ หรือที่เรียกว่า "ตายดี" ตามที่ผู้ป่วยสั่งเสียถึงร้อยละ 86 สามารถลดความขัดแย้งระหว่างหมู่ญาติและระหว่างญาติกับผู้ให้บริการสุขภาพ
ชวนผู้ป่วยและญาติจับมือหมอวางแผนระยะท้ายชีวิต

นายแพทย์อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ได้ผ่านกระบวนการสื่อสารพูดคุยวางแผนการดูแลล่วงหน้ามีโอกาสได้เข้าสู่การตายอย่างสงบตามที่ผู้ป่วยแสดงเจตนาหรือสั่งเสียไว้ถึงร้อยละ 86

การวางแผนการดูแลล่วงหน้ายังมีประโยชน์ต่อญาติ โดยพบว่าอัตราที่ญาติจะมีภาวะซึมเศร้าหลังผู้ป่วยเสียชีวิตน้อยกว่ารายที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการวางแผนการดูแล สำหรับบุคลากรและสถานพยาบาลนั้น การวางแผนการดูแลระยะท้าย จะช่วยลดภาระการทำงานดูแลรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งรวมไปถึงป้องกันค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่เกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิต และที่สำคัญคือ ช่วยลดความขัดแย้งทั้งระหว่างญาติกับสถานพยาบาลและระหว่างหมู่ญาติด้วยกันเอง

" การสื่อสารพูดคุยอย่างมีหลักการและเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้ป่วยและญาติรู้ข้อมูลที่เป็นจริงเพื่อการตัดสินใจว่าจะดูแลอย่างไร ช่วยให้ยอมรับความจริงเกี่ยวกับอาการที่ไม่อาจเยียวยาแต่ยังคงมีกำลังใจที่จะก้าวต่อไปสู่นาทีสุดท้ายให้มีความสุขมากที่สุด โดยตัดวงจรการยื้อชีวิตด้วยการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ออกไป และช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้เตรียมการจนสามารถเข้าสู่การตายอย่างสงบ ไม่ทรมาน ได้ทำสิ่งที่ค้างคาใจให้บรรลุและหมดห่วงกังวล ซึ่งก็คือการตายดีสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง "

นายแพทย์อุกฤษฏ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการนำรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองและใช้กระบวนการวางแผนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายล่วงหน้ามาใช้ แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถมีบทบาทในการประเมินความพร้อมของผู้ป่วยและญาติและเปิดประเด็นการพูดคุย สำหรับประชาชนที่เป็นผู้ป่วย หรือมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยเรื้อรังมานาน ผู้ป่วยมีอายุมากและมีความพร้อมทางจิตใจ สามารถเป็นฝ่ายเปิดใจและเปิดประเด็นถามหมอได้เช่นกัน

ชวนผู้ป่วยและญาติจับมือหมอวางแผนระยะท้ายชีวิต