นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันล่าสุด จากผลการประเมินของ IMD พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 28 จาก 61 ประเทศ แต่หากมองลึกไปยังตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมจะเห็นว่าประเทศไทยยังมีคะแนนอยู่ในอันดับต่ำ อาทิ ด้านผลิตภาพ (Productivity) ของประเทศไทยในภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 43 โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ที่ 47 และ 42 ตามลำดับ นอกจากนี้ จากผลการประเมินของ WEF ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 34 จาก 140 ประเทศทั่วโลก ปรับลดลงมาจากอันดับที่ 32 โดยผลการประเมินของ WEF ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิตเพื่อยกระดับขีดความสามารถเข้าสู่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม ซึ่งการจัดอันดับการแข่งขันของ WEF บ่งชี้ว่าประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องความมั่นคงของเศรษฐกิจระดับมหภาค (Macroeconomic environment) ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods market efficiency) การพัฒนาของตลาดการเงิน (Financial market development) และขนาดของตลาด (Market size) อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ซึ่งเอื้อต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ในทางตรงกันข้ามขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนประสิทธิภาพของตลาดแรงงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำ
"ปัญหาและอุปสรรคต่อการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง คือ ปัญหาและอุปสรรคด้านแรงงาน ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) และในปี 2573ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) โดยปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 6,184,926 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ 1,102,464 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 5,082,462 คน ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทยก็ขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตอยู่ประมาณ 34,717 คน และสำหรับในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่า อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 290,604 คน ซึ่งเมื่อพิจารณาด้านอายุของแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทย จะพบว่า แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ สะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานประเภทดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ ทั้งนี้ กุญแจอีกดอกหนึ่งที่สำคัญที่จะนำพาประเทศ หลุดพ้นจากอุปสรรคการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทย นอกจากการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายภาครัฐ ในเรื่อง Thailand 4.0 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" แล้ว การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน หรือ Productivity ก็เป็นกุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน" นายเจน กล่าว
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปฎิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงแรงงานเป็นหลักยังคงได้รับผลกระทบอยู่ เนื่องจากมีวิธีการบริหารจัดการด้านผลิตภาพแรงงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ ซึ่งอยากให้ผู้ประกอบการลองหันมาคำนึงถึงต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อหน่วยของการผลิตด้วย เพื่อที่จะสามารถเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้
"โดยปกติในการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำ คณะกรรมการค่าจ้างกลาง จะพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างจาก GDP ของประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ และพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน เป็นสำคัญ โดยไม่ได้มีเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในด้านของผู้ประกอบการเอง อยากให้นำเรื่อง ประสิทธิภาพแรงงาน มาเป็นปัจจัยในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำด้วย ทั้งนี้ ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงถูกหรือแพง แต่อยู่ที่ผลิตภาพแรงงาน หรือต้นทุนของแรงงานต่อหนึ่งหน่วยของการผลิต" นายสุชาติ กล่าว
นายสุชาติ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า งานสัมมนา "Productivity คำตอบสุดท้ายอนาคตประเทศไทย" ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีประสานความร่วมมือแบบบูรณาการทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบัน องค์กรที่มีบทบาท และเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับผลิตภาพแรงงาน รวมถึงเป็นเวทีที่รวบรวมผู้นำด้าน Productivity ที่รู้ลึก รู้จริง มาร่วมระดมความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะและความต้องการของผู้ประกอบการอันจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่อไป นอกจากนี้ ภายในงานยังเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการปรับกลยุทธ์ของสถานประกอบการโดยเฉพาะด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากภายในงานจะมีการปาฐกถาพิเศษ "วาระประเทศไทย : การเพิ่มผลิตภาพและผลิตภาพแรงงานไทย ในยุค Thailand 4.0" โดยประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังประกอบด้วย การสัมมนา หัวข้อ "โมเดลใหม่...สู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน" และสัมมนา หัวข้อ "Productivity นายจ้าง-ลูกจ้างได้ประโยชน์อย่างไร" โดยกูรูด้าน Productivity จากบริษัทชั้นนำในประเทศอีกด้วย