มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เตรียมพร้อมสู่ทศวรรษที่ 3 ชูสถาบันนวัตกรรมมหานคร สร้างวิศวกรรุ่นใหม่

24 Jan 2017
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ MUT ปรับภาพลักษณ์ ชูจุดเด่นด้านระบบการเรียน การสอน ผลงานวิจัย พร้อมรวมพลังประชารัฐพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประสานงานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศ เตรียมก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับนานาชาติ ปั้นวิศวกรรุ่นใหม่ ชูสถาบันนวัตกรรมมหานคร (Mahanakorn Institute of Innovation : MII) รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลและไทยแลนด์ 4.0 แข่งขันได้ในตลาดสากล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เตรียมพร้อมสู่ทศวรรษที่ 3 ชูสถาบันนวัตกรรมมหานคร สร้างวิศวกรรุ่นใหม่

ศาสตราจารย์ ดร. สิทธิชัย โภไคยอุดม นายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ MUT เปิดเผยว่า "ตลอดระยะเวลา 27 ปี MUT มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการเรียน การสอน และการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้มาตรฐานของ MUT นั้นเทียบชั้นแนวหน้าของมหาวิทยาลัยของไทย โดยผลการประเมินคุณภาพภายนอกทั้งสามรอบ จากสำนักงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)หรือสมศ. จัดให้ MUT อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องงานวิจัยและการผลิตบัณฑิต มีผลประเมินอยู่ในระดับดีมาก ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพตามเกณฑ์ที่ สมศ. กำหนด รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่หลายรายการ อาทิ การพัฒนาดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย ออกแบบและสร้างโดยคนไทย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อดาวเทียมดวงนี้ว่า ไทพัฒ เพื่อเก็บภาพบนพื้นโลก รับ-ส่งสัญญาณ วิเคราะห์สัญญาณในระบบดิจิทัล เป็นประโยชน์ในด้านวิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งเป็นสถาบันแรกที่วิจัยและพัฒนามิเตอร์สำหรับรถแท็กซี่ ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นมาตรฐานการคิดค่าโดยสารจนถึงปัจจุบัน"

รองศาสตราจารย์ ดร. สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดี MUT กล่าวว่า "ในปีนี้ MUT จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายด้าน นับตั้งแต่ การปรับปรุงทัศนียภาพ อาคารเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายใน MUT ทั้งหมด โดยใช้งบประมาณลงทุนไปกว่า 60 ล้านบาท การพัฒนาหลักสูตรและการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำจากประเทศอังกฤษ เยอรมันนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้ง ได้พัฒนาศูนย์วิจัยนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ Mahanakorn for Sustained Innovation, Research Centre (MASI) มุ่งเน้นศึกษาและวิจัยนวัตกรรมป้องกันประเทศเชิงพาณิชย์ จัดตั้งศูนย์วิจัยและปฏิบัติการด้านนวัตกรรม TrueLAB@MAHANAKORN เป็นศูนย์เรียนรู้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย ระบบคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ศูนย์ประชุม เอื้อต่อการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการจัดให้มีการอบรมทักษะจำเป็นในด้านต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกด้วย"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผน และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ก้าวต่อไปของการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี MUT ได้เปิด สถาบันนวัตกรรมมหานครหรือเอ็มไอไอ (Mahanakorn Institute of Innovation : MII) พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตวิศวกรรมที่เป็นนักนวัตกร โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ ภายใต้แนวคิด STEAM Education ผสมผสานเนื้อหาเชิงทฤษฏีและปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และศิลปะ เข้าด้วยกัน ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้เสริมตามความสนใจ เรียนสนุกและสร้างสรรค์แบบ active learning เช่น การเรียนเชิงสาธิต Kitchen Chemistry มีการพัฒนาทักษะเฉพาะแต่ละด้านแบบมืออาชีพ ฝึกปฏิบัติจริงและฝึกงานในองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาทักษะ soft skill เช่น การบริหารความคิดสร้างสรรค์ ทักษะภาษาอังกฤษ หรือการทำงานเป็นทีมอย่างมืออาชีพ รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นด้านหุ่นยนต์ ระบบเครือข่าย ระบบโปรแกรมควบคุม ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลควบคุม เป็นต้น

สำหรับหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และไทยแลนด์ 4.0 MUT ได้พัฒนาหลักสูตรเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) กลุ่มแรกสถาบันนวัตกรรมมหานคร ได้แก่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมโลจิสติกส์ วิศวกรรมระบบวัดคุม วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรมและการบริหารจัดการ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารยุคดิจิทัล และหลักสูตรสองภาษาด้านวิศวกรรม สำหรับหลักสูตรสองภาษานี้ ได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับ The University of Sheffield, Oxford Brookes University ประเทศอังกฤษ และ University of Ulsan ประเทศเกาหลีใต้ 2) กลุ่มสองวิศวกรควบคุม ได้แก่ วิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมโทรคมนาคม 3) กลุ่มสุดท้าย คณะต่างๆ ได้แก่ คณะวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ คณะสัตวแพทยศาสตร์

"การลงทุนและพัฒนาในหลายด้านของ MUT ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้และต่อไป ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่า จะสามารถผลิตบุคลากรตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างยั่งยืน" รองอธิการบดีกล่าวสรุป

นอกจากนี้ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560 MUT วางแผนจัดงาน "พลังความรู้ สู่เทคโนโลยี ขับเคลื่อนประเทศไทย" ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อแสดงผลงานและนวัตกรรมล่าสุดทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ให้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้ามาเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยใน 1 ปีจะจัดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โทรศัพท์ 02-9884021-4 เว็บไซต์ www.mut.ac.th

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เตรียมพร้อมสู่ทศวรรษที่ 3 ชูสถาบันนวัตกรรมมหานคร สร้างวิศวกรรุ่นใหม่