วันนี้ไม่เพียงเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้นที่ใช้อินเวอร์เตอร์ไปช่วยเซฟค่าไฟ แต่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ก็ติดตั้งระบบนี้เพื่อให้รถยนต์สองระบบที่ใช้ไฟฟ้าร่วมด้วยประหยัดไฟมากขึ้น ที่สำคัญในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูก็ได้นำเอาเทคโนโลยีนี้ไปช่วยลดการใช้ไฟฟ้าภายในฟาร์มได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีพี่ใหญ่ในวงการเกษตรอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นผู้บุกเบิกใช้ในฟาร์มหมูของบริษัท
เรื่องนี้ นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บอกว่า สายธุรกิจสุกรของซีพีเอฟ ได้นำระบบอินเวอร์เตอร์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้การใช้พลังงานไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุดแต่ต้องประหยัดที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการเลี้ยงหมูของบริษัทที่ใช้โรงเรือนระบบ EVAP ซึ่งต้องติดตั้งพัดลมไว้ท้ายเล้าเพื่อดูดอากาศ บางโรงเรือนต้องใช้พัดลมถึง10-15 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดโรงเรือนและขนาดน้ำหนักหมู และโดยทั่วไปพัดลมจะถูกสั่งให้ทำงานตามอุณหภูมิและตามความต้องการของตัวหมูในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งในการเปิดพัดลมเพิ่มขึ้นทุกๆครั้ง จะมีการใช้ไฟฟ้าที่สูงมากกว่าปกติทันที 2-3 เท่า ทำให้เกิดการกระชากไฟได้
นี่จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญนำไปสู่การทดลองใช้อินเวอร์เตอร์ในฟาร์มหมูของซีพีมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และพบว่าการทำงานของพัดลมด้วยระบบนี้จะมีประสิทธิภาพการทำงานเท่าเดิม แม้ว่าความเร็วรอบจะลดลงก็ตาม ซึ่งการใช้ระบบอินเวอร์เตอร์นี้มีหลักการ คือ กระแสไฟฟ้าต้องเพียงพอและสม่ำเสมอ ทำให้ในพื้นที่ไหนที่ห่างไกลหรือเป็นจุดที่อยู่ปลายสายอาจไม่เหมาะที่จะใช้ระบบนี้ นอกจากนี้ การใช้อินเวอร์เตอร์ ต้องมีการติดตั้งพัดลมเพิ่มอีก 20% เพื่อให้แรงลมเท่าเดิม เช่น จากเดิมมีพัดลม 5 ตัว ก็จะต้องติดตั้งเพิ่ม 1 ตัว และต้องตั้งค่าพัดลมทุกตัวให้ทำงานพร้อมกัน ไม่ใช่ค่อยๆเปิดทีละตัว เพื่อแก้ปัญหาไฟกระชาก
โดยทฤษฎีแล้วการใช้อินเวอร์เตอร์จะทำให้มอเตอร์จะประหยัดไฟฟ้าได้ เมื่อความเร็วรอบไม่เกิน 80% ดังนั้นจึงต้องกำหนดความเร็วรอบของพัดลมให้ค่าต่ำสุดอยู่ที่ 30% และทำงานมากที่สุดไม่เกิน 80% โดยจะเริ่มเปิดพัดลมที่ 80% และเมื่ออุณหภูมิเย็นลงระบบก็จะปรับความเร็วรอบมอเตอร์ให้ทำงานลดลงอัตโนมัติ เช่น จาก 80% ลงมาที่ระดับ 50% หรือในช่วงหมูเล็กที่ต้องการความอบอุ่นก็สามารถปรับความเร็วให้อยู่ที่ 30% ได้เช่นกัน
จากติดตามผลการประหยัดพลังงานจากการใช้ระบบอินเวอร์เตอร์ควบคุมมอเตอร์พัดลมและปั๊มน้ำ ในฟาร์มหมูนำร่องจำนวน 52 แห่ง พบว่าช่วยประหยัดไฟฟ้าที่ใช้กับพัดลมได้ถึง 50% และช่วยลดการใช้ไฟฟ้ากับปั๊มน้ำได้ถึง 33% โดยในปี 2559 สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ถึง 22 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และระบบนี้ยังช่วยเพิ่มอายุการใช้งานมอเตอร์ได้เป็น 2 เท่า นอกจากนี้ ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุง ทั้งลูกปืนมอเตอร์และสายพานลงได้ เท่ากับลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้อีก โดยการติดตั้งระบบนี้จะใช้เงินลงทุนราวๆ 6 หมื่นบาทต่อหลัง ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 2 ปี
ปัจจุบันฟาร์มหมูของบริษัททั้ง 88 แห่งทั่วประเทศ ได้ติดตั้งระบบนี้ครบทั้งหมดแล้ว และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในโครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับบริษัทที่พร้อมและอยู่ในเขตที่มีไฟฟ้าเพียงพอและสม่ำเสมอหันมาใช้อินเวอร์เตอร์เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ได้ใช้ระบบไบโอแก๊สเปลี่ยนขี้หมูมาเป็นพลังงานสะอาดใช้ในฟาร์มอยู่แล้ว
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของภาคเอกชนที่ใส่ใจด้านการใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม./
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit