นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีแนวทางปฏิบัติในการตรวจเข้มในเรื่องของผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตทั้งหมด โดยเน้นไปที่ปุ๋ยและวัตถุอันตราย โดยในปี 2558 สามารถอายัดของกลางปุ๋ยและวัตถุอันตราย รวมจำนวน 271 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 73 ล้านบาท ปี 2559 อายัดของกลางปุ๋ยและวัตถุอันตราย รวมจำนวน 2,132 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 83 ล้านบาท และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 59 เป็นต้นมา (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ธ.ค. 59) กรมวิชาการเกษตรได้เข้าไปตรวจ รวมทั้งสิ้น 1,348 ครั้ง ทั้งโรงงานผู้ผลิตและร้านค้า โดยมีการสุ่มเก็บตัวอย่างและอายัดปุ๋ย รวมทั้งสิ้น 1,155 ตัน กับ 10,058 ลิตร อายัดวัตถุอันตราย รวมทั้งสิ้น 63 กิโลกรัม 301 ลิตร พันธุ์พืช 1,001 กิโลกรัม มูลค่า 28 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่การรับรองแปลงตามมาตรฐาน GAP ในปี 2560 มีแผนการตรวจรับรอง คือ ตรวจรับรองแปลงของเกษตรกรที่สมัครเข้าสู่ระบบ GAP จำนวน 25,500 แปลง ตรวจต่ออายุแหล่งผลิตพืชที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 65,113 แปลง ตรวจรับรองแปลงของเกษตรกรที่สมัครเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์จำนวน 1,008 แปลง และตรวจต่ออายุแหล่งผลิตพืชที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์อีกจำนวน 1,192 แปลง ในขณะเดียวกัน ยังได้ลงไปสุ่มตรวจสินค้าเกษตร โดยเน้นในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ 7 จังหวัด เพื่อไปสุ่มตรวจสินค้าเกษตร ในพืชผัก 10 ชนิด ผลไม้ 9 ชนิด และได้ส่งตัวอย่างทั้งหมดเข้าไปตรวจสอบอยู่ คาดว่าจะทราบผลภายในต้นเดือน ม.ค. ปี 2560 นอกจากนี้ ยังได้ใช้เครือข่ายในภาคประชาชนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยเน้นเกษตรกรเป็นหลักและคำนึงถึงคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
ด้าน นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมปศุสัตว์ ได้ขับเคลื่อนสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยจะเน้นในเรื่องของโรงฆ่าสัตว์เถื่อน ซึ่งในปี 2559 ได้มีผลการจับกุม จำนวน 226 ครั้ง ในขณะเดียวกัน การขออนุญาตแบบถูกต้องก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนกว่า 2,200 แห่ง การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและมีทางออกให้กับผู้ประกอบการ การลักลอบนำเข้าเนื้อเถื่อน ในปี 2559 ได้มีผลการจับกุม จำนวน 115 ครั้ง มูลค่าของกลาง 148,568,761 บาท เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ และการใช้สารเร่งเนื้อแดง ได้มีผลการจับกุม จำนวน 80 ครั้ง ได้ทำควบคู่ไปกับการตรวจรับรองสถานที่จำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ ตามโครงการ "ปศุสัตว์ OK" เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ โดยสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ "ปศุสัตว์ OK" ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเนื้อสัตว์มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน และผลิตจากฟาร์มมาตรฐาน (GAP) ปัจจุบันได้รับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ (ปศุสัตว์OK) จำนวน 2,762 แห่ง