ผลพวงภัยแล้ง ฉุดจีดีพีเกษตรทั้งปี หดตัว 0.5 สศก. คาด ปีหน้าขยายตัว จากสภาพอากาศ - ศก.โลก ทิศทางดีขึ้น

21 Dec 2016
ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 59 หดตัว 0.5 เหตุจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปี 58 ในขณะที่รายได้เกษตรกร โดยเฉลี่ยตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม 59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้น คาดปี 60 แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.4 - 3.4 จากนโยบายสำคัญที่ช่วยผลักดันและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 พบว่า หดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 1.8 และ 0.5 ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.8 2.5 และ 2.2 ตามลำดับ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัว คือ ปรากฏการณ์เอลนีโญและสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2559 โดยปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่วนการทำประมงทะเลยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการปรับตัวและการปฏิบัติตามกฎหมายประมงของผู้ประกอบการเรือประมง และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนยังคงชะลอตัว

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการปฏิรูปภาคการเกษตร เช่น โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) เกษตรอินทรีย์ ธนาคารสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต ในส่วนของการผลิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มมาตรฐานที่มีการวางแผนการผลิตและดูแลอย่างเป็นระบบ แม้ปัญหาอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์บ้าง แต่ปริมาณผลผลิตปศุสัตว์โดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากการจัดการปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หากพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า

สาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.8 จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานและสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อการผลิตพืชมากนัก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง อาทิ ข้าวรวม ในปี 2559 มีผลผลิต 29.09 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 29.86 ล้านตัน มันสำปะหลัง มีผลผลิตรวม 30.71 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 31.47 ล้านตัน อ้อยโรงงาน มีผลผลิตรวม 97.34 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 108.76 ล้านตัน ยางพารา มีผลผลิตรวม 4.38 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 4.42 ล้านตัน ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตรวม 11.17 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 12.05 ล้านตัน สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) มีผลผลิตรวม 1.72 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 1.99 ล้านตัน ด้านราคาพืชที่สำคัญในปี 2559 อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 6.6 8.7 2.2 และ 2.5 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบมาตรฐานฟาร์มที่ดี และราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี

สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรคมากขึ้น ส่วนปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางลดลง

สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงจากปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าเกษตรกรจะสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้เพิ่มขึ้น แต่การจ้างบริการทางการเกษตรในภาพรวมยังคงลดลง

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากผลผลิตไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายได้เกษตรกร เฉลี่ยเดือน มกราคม – ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.4 - 3.4 โดย สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 2.6 – 3.6 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.1 – 2.1 สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 3.0 – 4.0 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 – 3.2 โดยปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน (Changing Towards Smart Agriculture) ซึ่งจะดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการบริหารจัดการแบบธุรกิจเกษตร พัฒนาการเกษตรที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี องค์ความรู้แบบองค์รวม รวมถึงสนับสนุนกระบวนการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคเกษตรในปี 2560 ขยายตัว ช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้ คาดว่าสภาพอากาศและปริมาณน้ำจะเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากกว่าปี 2559 เนื่องจากในช่วงปี 2559 ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล ทำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักเพิ่มขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชที่สำคัญ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีทิศทางดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2560 ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังประเทศจีนลดลง

อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร

หน่วย: ร้อยละ

สาขา

2559

2560

ภาคเกษตร

-0.5

2.4 – 3.4

พืช

-1.8

2.6 – 3.6

ปศุสัตว์

2.8

1.1 – 2.1

ประมง

2.5

3.0 – 4.0

บริการทางการเกษตร

-0.5

1.5 – 2.5

ป่าไม้

2.2

2.2 – 3.2

ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร