นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน กล่าวว่า การไฟฟ้านครหลวง มีนโยบายในการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุตามแผนงานที่วางไว้ ในวันนี้จึงได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินระหว่างการไฟฟ้านครหลวง , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม , กรุงเทพมหานคร ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
"ปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการแล้ว 6โครงการ ได้แก่ โครงการสีลม โครงการปทุมวัน โครงการจิตรลดา โครงการพหลโยธิน โครงการพญาไท และสุขุมวิทบางส่วน และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 6โครงการ ได้แก่ โครงการสุขุมวิท เฟสต่อเนื่อง โครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไทเฟสต่อเนื่อง โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-อโศก และโครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 และยังมีแผนงานฯอื่นๆ เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนในระยะ10 ปี ตั้งแต่ 2559 – 2568 ระยะทาง 127.3 กม. เงินลงทุน 48,717 ล้านบาท ครอบคลุม 3 จังหวัด ซึ่งได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว จะเริ่มเดินหน้าโครงการ โดยแยกเป็นพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน สมุทรปราการ และนนทบุรี ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นเมืองอันสวยงามเพื่อรองรับการเป็นเมืองแห่งมหานครอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้และเพื่อวันข้างหน้าของลูกหลานของเราต่อไป" นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวถึงการลงนามในครั้งนี้ เพื่อเป็นโครงการนำร่องบูรณาการนำสายสื่อสารลงดินพื้นที่โครงการถนนพหลโยธิน ร่วมกับหน่วยงานอีก 4 แห่ง ซึ่ง การไฟฟ้านครหลวงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ และคำนึงถึงความปลอดภัย พร้อมทั้ง ให้ความสำคัญกับการปรับทัศนียภาพให้มีความสวยงาม ตอบสนองตามนโยบายของภาครัฐบาล ต้องการเร่งรัดโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จใน 5 ปีจากแผนเดิม 10 ปี เพื่อรองรับการเป็นเมืองแห่งมหานครอาเซียน จึงได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายสื่อสารในอากาศเป็นสายสื่อสารลงใต้ดิน
"โครงการดังกล่าวจะช่วยผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยจะช่วยให้ประหยัดงบลงทุนเมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ด้วยความจุ (Capacity) ของจำนวนเส้นใยแก้วนำแสง (Optical fiber) ที่มากเพียงพอรองรับความต้องการของผู้ประกอบการทุกรายแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการใช้งานของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งานสายใยแก้วนำแสงในเส้นทางดังกล่าวได้อีกด้วย และโครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างเมืองที่สวยงามเพื่อรองรับการเป็นเมืองมหานครอาเซียนและยังเป็นของขวัญที่ทาง กฟน.และกระทรวงมหาดไทยมอบให้แด่ ประชาชนชาวไทยในปี 2560 นี้ด้วย" นายชัยยงค์ กล่าวเสริม
ขณะที่ พ.อ.เรืองทรัพย์ โฆวินทะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ UIH เปิดเผยว่า ในวันนี้ผู้ประกอบการภาคเอกชน 6 รายประกอบไปด้วย 1.บริษัท แอ็ดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) 2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) 3. บริษัท ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ จำกัด (TU) 4. บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (UIH) 5. บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (SYMC) และ 6.บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ALT) ได้ร่วมลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงโครงการร่วมใช้ท่อร้อยสายใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวงกับเอกชน โดยเป็นโครงการทดลองปรับเปลี่ยนสายโทรคมนาคมจากระบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน ในเส้นทางถนนพหลโยธินและพญาไท (Bangkok Underground Duct)
โครงการนำสายสื่อสารจากบนอากาศลงสู่ใต้ดิน ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของภาคเอกชนและภาครัฐ โดยจะดำเนินการนำสายสื่อสารระยะทางจากถนนพหลโยธินจากห้าแยกลาดพร้าว – สี่แยกปทุมวัน ซึ่งรวมระยะท่อของการไฟฟ้านครหลวงทั้งสิ้นประมาณ 30 กิโลเมตร วัตถุประสงค์ในการดำเนินการครั้งนี้เพื่อให้พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เกิดภูมิทัศน์สวยงามและเป็นไปตามแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ กทม.ก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งมหานครอาเซียน อีกทั้งยังช่วยในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และถ้าหากโครงการแรกนี้ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องประสบความสำเร็จด้วยดี ก็คาดว่าจะมีโอกาสพัฒนาต่อในเส้นทางอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป ทั้งนี้คาดว่าเริ่มดำเนินงานได้ในช่วงต้นปี 2560 และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นไตรมาส 2/2560
"ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงถึงพลังของความสามัคคีของภาคเอกชนทั้ง 6 แห่ง ที่ได้พร้อมใจกันทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยของพวกเราทุกคน อีกทั้งยังเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ทั้งหมด โดยไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ ก็เพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และที่สำคัญยังได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่สนับสนุนให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จและก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ดังนั้นจึงถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีอย่างยิ่งและหากการดำเนินงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จที่ดีแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีโครงการในเขตอื่นๆ ตามมาอีก ซึ่งนอกเหนือจากการทำให้เกิดความเป็นระเบียบ สวยงาม มีทัศนียภาพที่ดีแล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือการทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปอีกด้วย" พ.อ.เรืองทรัพย์ โฆวินทะ กล่าวในที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit